Home สื่อเศรษฐกิจ นักข่าวอยากรู้

นักข่าวอยากรู้

by admin
1833 views

นักข่าวกับการแต่งกาย
คอลัมน์ “นักข่าวอยากรู้” ฉบับนี้มาเปลี่ยนบรรยากาศจากนักจิตวิทยาชื่อดัง มาพูดถึงเรื่องใกล้ตัวที่นักข่าวหลายๆ ท่านอาจจะอยากรู้มานานเกี่ยวกับเหตุผลการแต่งกายของนักข่าวบางท่าน แต่ไม่กล้า เราจึงสรรหามาให้นักข่าวได้ทราบกัน

activities9.jpg เริ่มจาก “พี่แอ๊ด” นงค์นาถ ห่านวิไล บรรณาธิการข่าวธุรกิจการตลาด หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย “พี่แอ๊ด” คนเก่งของน้องๆ บอกว่า “นักข่าวการแต่งกายก็เป็นภาษาหนึ่งในการสื่อสาร ในการบอกในการสะท้อนความเป็นตัวตนของบุคคลคนนั้น ถ้านักข่าวแต่งตัวดูดี สุภาพ ก็เท่ากับเป็นการให้เกียรติตัวเองและให้เกียรติกับองค์กรที่ตัวเองสังกัดด้วย เรื่องการถูกกาละ เทศะ เป็นเรื่องที่ไม่เคยล้าสมัยและอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์สังคมมาทุกยุค นักข่าวนั้นทำหน้าที่เสนอข่าว วิพากษ์วิจารณ์สังคมและบุคคล ดังนั้นสังคมของพวกเรากันเองก็ต้องปฏิบัติตัว วางตัว และแต่งตัวให้เหมาะสมกับฐานะของการเป็นมืออาชีพ”
ตอนนี้เวลาเจอหน้าแหล่งข่าว นักวิชาการ เพื่อนฝูง ก็มักจะบอกหรือให้คำแนะนำเสมอว่า นักข่าวน่าจะแต่งตัวให้ดูสุภาพมากกว่านี้ อย่างแหล่งข่าวที่เป็นนักวิชาการบางคน ไปใช้ชีวิตเรียนหนังสืออยู่ที่เมืองนอก ก็เห็นว่านักข่าวฝรั่งนั้นแม้เขาจะเป็นคนสบายๆ ไม่ซีเรียสเรื่องระเบียบแบบแผนมากนัก แต่เมื่อเขาต้องปฏิบัติหน้าที่ ต้องไปทำข่าวที่เป็นพิธีการ ไปพบแหล่งข่าวที่เป็นนักบริหารระดับสูง เขาก็จะแต่งตัวเต็มยศ เต็มที่
“พี่แอ๊ด” สวมวิญญาณนักการตลาดถอดรหัสจากการแต่งตัวของนักข่าวยุคนี้ว่า ความจริงการเป็นนักข่าวก็มีฐานะทางสังคมเหมือนกับพวก Celebrity (บุคคลที่มีชื่อเสียง) อื่นในสังคม เพราะในต่างประเทศ หรือประเทศที่เจริญแล้วเขาก็มองว่าพวก Journalits เป็นพวกที่มีอาชีพที่คนอื่นอยากจะเลียนแบบ นักข่าวนักหนังสือพิมพ์จึงเป็น Role model หนึ่งที่ควรจะเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ๆ
ในฐานะบรรณาธิการข่าวธุรกิจ-การตลาด “พี่แอ๊ด” บอกว่า ขอหยิบยกคำพูดของแหล่งข่าวที่ชื่อ คุณประณม ถาวรเวช ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ จอห์น โรเบิร์ต พาวเวอร์ ที่เคยพูดไว้ว่า “เสื้อผ้า พูดได้” เท่ากับว่าเสื้อผ้าและการแต่งกายบ่งบอกความหมายได้สารพัด ดังนั้นเป็นไปได้ว่าแหล่งข่าว หรือคนที่นักข่าวต้องไปพบปะ เขาก็อาจจะแปลความตัวตนของนักข่าวจากการแต่งกายที่เขาพบเห็นครั้งแรก ตามสุภาษิตที่ว่าศรศิลป์กินกัน ก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันตั้งแต่แรกพบ
“นักข่าวต้องไปพบกับคนทุกระดับทั้งกลุ่ม Elit (ชนชั้นสูง) กลุ่มคนฐานะดีในสังคม ไฮโซ ผู้จัดการบริษัท ซีอีโอ. ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรี หรือคนชั้นล่าง ดังนั้นก็ต้องแต่งกายให้ถูกกับสถานที่และเวลา แล้วส่วนใหญ่แหล่งข่าวก็เป็นผู้ใหญ่กว่าเรา ถ้าเราแต่งกายให้เขาประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น แหล่งข่าวก็จะจดจำบุคลิกของเราได้รวดเร็ว เวลาเราโทรศัพท์ไปหาเขาเพื่อเช็คข่าวก็จะทำให้เราได้ข่าวที่ดีได้ และการแต่งการที่ดีไม่จำเป็นต้องเลียนแบบผู้อื่น แต่แต่งให้เหมาะสมกับบุคลิกของตัวเอง มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว” …

ตามด้วย “พี่แหม่ม-ฉัตรฤดี เทพรัตน์” นักข่าวสายเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำทำเนียบรัฐบาล “พี่แหม่ม” บอกว่าความจริงแล้วเรื่องนี้มีการพูดกันบ่อยครั้ง ทั้งกับนักข่าวในสนามกันเอง และกับนักข่าวสายอื่นๆ การแต่งตัวดีก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักข่าว นักข่าวสายเศรษฐกิจต้องไปหลายที่ ต้องเจอคนหลายหลายตั้งแต่คนงาน ไปจนถึงซีอีโอ.ของบริษัททั้งยักษ์ใหญ่ และผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย ถ้าแต่งตัวสุภาพ ก็จะทำให้การทำงานสะดวกไปไหนได้ง่าย คล่องตัว แต่ถ้าไม่เรียบร้อย ไม่สุภาพ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เช่นหากต้องไปพบกับผู้บริหาร แล้วใส่กางเกงยีนส์ ก็จะไม่มั่นใจ เหมือนเป็นการไม่เคารพและไม่ให้เกียรติแหล่งข่าว
“เราถูกสอนมาตั้งแต่ทำงานใหม่ๆ ว่าต้องสร้างความน่าเชื่อถือทั้งตัวเอง และองค์กรที่สังกัด ให้เกียรติคนที่เราไปพบและสถานที่ จึงต้องถูกทั้งกาละ และเทศะ ดังนั้น คนที่เป็นนักข่าวรุ่นพี่ หัวหน้างาน ก็ต้องสอนหรือบอกนักข่าวรุ่นน้องๆ หรือองค์กร สำนักพิมพ์นั้นๆ ต้องมีกระบวนการในการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) นักข่าวในสังกัด ให้ปฏิบัติตัวที่เหมาะที่ควร”
“ก่อนอื่นต้องบอกว่า แต่งตัวดีไม่จำเป็นต้องมียี่ห้อ แต่ต้องมีความสุภาพ เพราะการเป็นนักข่าวไม่ใช่แค่มีประเด็นข่าวดีอย่างเดียว แล้วถือว่าทำงานประสบความสำเร็จ แต่ต้องเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือด้วย ซึ่งความน่าเชื่อถือนั้นก็เริ่มจากการวางตัว การแต่งกาย เป็นสิ่งแรกที่แหล่งข่าวสัมผัสได้ อยากบอกนักข่าวรุ่นน้องว่าเราไม่ต้องการวัดความเป็นคนจากการแต่งตัวแต่หากแต่งตัวดีก็มีชัยในการทำงานไปกว่าครึ่ง”…

“สวน-อิศรินทร์ หนูเมือง” นักข่าวสายเศรษฐกิจ-การเมือง หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ “สวน” บอกว่าก็เคยถูกสอนมาจากรุ่นพี่นักข่าวในโรงพิมพ์ บอกว่าต้องแต่งตัวออกจากบ้านให้พร้อมจะไปไหนได้ทุกสถานที่ ตลอดเวลา เพราะการทำงานข่าวบางวันเราไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์เร่งด่วนอะไรขึ้นบ้าง ประกอบกับตัวเองเป็นนักข่าวที่ต้องทำงานทั้งสายเศรษฐกิจ และสายการเมือง จึงไม่รู้ว่าจะถูกหัวหน้ามอบหมายงานพิเศษ นอกเหนือactivities10.jpgจากกำหนดการงานปกติแต่ละวัน เช่น บางวันเราเตรียมตัวว่าจะไปทำข่าวที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง หรือที่ม็อบช่วงเช้า แต่พอช่วงบ่ายอาจจะถูกหัวหน้ามอบหมายให้ไปสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่โรงแรมหรูอีกแห่งหนึ่ง ถ้าเราแต่งตัวออกจากบ้านในสภาพที่พร้อมไปไหนได้ทุกแห่ง เราก็สามารถไปปฏิบัติงานได้ทุกที่ ด้วยความมั่นใจในตัวเอง เมื่อเรามั่นใจในตัวเองแล้วก็จะทำให้เรามั่นใจในการตั้งคำถาม มั่นใจในการทำงาน สุดท้ายผลงานก็จะออกมาดีโดยปริยาย
“เป็นนักข่าว งานที่เราทำเป็นงานที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้นทุกนาทีที่ไปพบแหล่งข่าวต้องสร้างความน่าเชื่อถือ น่าศรัทธา ทั้งในแง่ปัจเจกบุคคลและในแง่องค์กรให้เขาศรัทธามาถึงหนังสือพิมพ์ที่เราสังกัดด้วย ก็ไม่ต้องแต่งตัวให้ถึงกับหรูหรามาก แต่หัวใจสำคัญคือต้องมีความสุภาพ เรียบร้อย สมาร์ท”
“น้องๆ บางคน อาจจะบอกว่าการแต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ไม่อินเทรนด์ ไม่สวยงามตามแฟชั่น แต่ความจริงแล้วทุกแฟชั่น ทุกเทรนด์ นักออกแบบก็ออกแบบมาให้ผู้สวมใส่คำนึงถึงกาละเทศะ เหมือนกัน ดังนั้นหากนักข่าวผู้หญิงแต่งตัวสวยเซ็กซี่ นักข่าวชายแต่งตัวเซอร์ ตามแฟชั่นทันทุกก้าว แต่ถ้าแต่งแล้วต้องไปนั่งสัมภาษณ์บุคคลระดับ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ในทำเนียบรัฐบาล ที่ห้องวี.ไอ.พี.สนามบิน สัมภาษณ์ซีอีโอ.บริษัทยักษ์ใหญ่ แล้ว อาจจะไม่สะดวกในการทำงาน เช่น นักข่าวหญิงใส่เสื้อคอลึก รัดติ้ว เอวต่ำ อาจจะต้องสัมภาษณ์ไปจับเสื้อที่ไปตลอดเวลา ก็จะเป็นกิริยาที่ไม่น่ารักและไม่สุภาพ”…

ดูสาวๆ กันไปแล้ว หันมาดูหนุ่มกันบ้าง “จำลอง ดอกปิก” จากค่ายมติชน ประสบการณ์ในงานข่าวมากว่า 18 ปี เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่กับเจ้าของสมญา “จอมเนี้ยบ” ตรงที่หนุ่มจำลองคนนี้พิถีพิถันกับเสื้อผ้าที่สวมใส่ ถึงกับลงทุนซักเอง รีดเอง แถมเป็นคนมีฝีมือฉกาจฉกรรจ์เรื่องการรีดผ้า เพราะเสื้อเรียบแปล้ อยู่ทรงได้ตลอดทั้งวัน
“ผมเป็นคนรักษาเสื้อผ้า แม่สอนไว้ตั้งแต่เด็กว่า จะนั่งตรงไหนก็ต้องดู ต้องปัดก่อน กลัวเสื้อผ้าเปื้อน ยิ่งซักเอง รีดเองก็ยิ่งต้องระมัดระวัง”
แต่พอถามถึงรสนิยมในการแต่งตัว หนุ่มคนนี้กลับไม่ได้ชอบเสื้อผ้ายี่ห้อไหนเป็นพิเศษ สีเสื้อผ้าส่วนใหญ่ก็เน้นสีพื้น ๆ ธรรมดา ไม่ฉูดฉาด แต่ที่น่าสังเกตก็คือ เป็นคนใส่เสื้อแบบปล่อยชาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากเป็นโรคภูมิแพ้ หากเสียดสีจะเกิดผื่นคัน น่ารำคาญ เพราะหมอบอกว่า หากเอายัด ๆ เข้าไป แล้วมันเสียดสีตรงเอว หรือใส่คับๆ หรือตามข้อพับต่างๆ อาจเกิดอาการขึ้นได้ เลยต้องยอมกลายเป็นคนไม่สุภาพไป
หนุ่มจำลองไม่ค่อยได้ซื้อเสื้อผ้าบ่อยนัก สารภาพตรง ๆ ก็คือ เป็นคนซื้อเสื้อผ้ายาก บางทีถูกใจแต่ไม่ถูกราคา สามารถตัดใจไม่ซื้อก็ได้ “เสื้อผ้าผมบางตัวใส่ 6-7 ปี ผมไม่ได้ซื้อบ่อย ตัวที่ซื้อมาแล้วนาน ๆ เราเอามาวนใส่สลับ อย่างที่ซื้อ3-4 ที่ผ่านมา ช่วงนี้ผมพัก-พับไว้ก่อน ทีนี้ที่มันยังดูใหม่อยู่ ก็เพราะผมเป็นคนรักเข้ารักของ ดูแลรักษาดี อย่างตากเสื้อผ้าเนี่ย ผมก็ต้องตากในร่ม มีลมพัด ที่ไม่มีแดดจะได้ไม่ทำลายสีเสื้อผ้า ตอนซักทุกตารางนิ้วก็ต้องถูกสัมผัส”
ถามว่า อาชีพนักข่าวควรแต่งกายอย่างไรจึงจะเหมาะสม “พี่จำลอง” ให้ข้อคิดได้น่าฟังว่า “ขอแค่แต่งกายให้ถูกกาลเทศะ ให้เกียรติคนและสถานที่ก็พอ อย่างไปทำข่าวม็อบกับเข้าทำเนียบฯก็น่าจะเป็นคนละอย่างกัน ผมไม่ค่อยได้ลงพื้นที่เท่าไหร่นัก จึงไม่รู้ว่าเพื่อน พ้อง น้องพี่ เขาแต่งตัวกันอย่างไร แต่ดูในทีวีรวม ๆ แล้ว ผมว่าก็โอเคนะ”