Home สื่อเศรษฐกิจ รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

by admin
1990 views

@@เมื่อ “นักข่าว” กลับมาเป็น “นักเรียน” @@

ปิดคอร์สไปเรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการอบรมความรู้ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความร่วมมือ ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ กับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ

โครงการนี้ได้รับความสนใจจากทั้งนักข่าวรุ่นพี่และรุ่นน้องสมัครเข้าโครงการร่วม 60 คน พร้อมด้วยตัวแทนทีมประชาสัมพันธ์อีกหลายองค์กร
โดยที่ทุกคนพร้อมใจกันกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง แถมเข้าห้องกันแน่นทุกคลาส เพราะว่าบรรดาอาจารย์พิเศษที่ได้รับเชิญมาให้ความรู้กับพี่ๆน้องๆนักข่าวนั้นเป็นระดับชั้นเซียนทั้งสิ้น (ขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน ณ ที่นี้อีกครั้ง)
เรียกว่าประสบความสำเร็จไปด้วยดี ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ลองไปฟังมุมมองและความเห็นของพี่ๆน้องๆที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่ารู้สึกกันอย่างไรบ้าง

อังศุมาลิน บุรุษ
น้องตุลย์ /ประชาชาติธุรกิจ
หลังจากผ่านโครงการอบรมให้ความรู้ผู้สื่อข่าว ที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจและสปอนเซอร์ใจดีทั้งหลายจัดให้มาแล้ว
บอกได้เลยว่าเป็นโครงการที่คุ้มจริงๆ เพราะเราได้ทั้งความรู้ ความเข้าใจ ความสนุกสนาน จากวิทยากรผู้มาให้การบรรยาย ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อที่จัดให้ความรู้ อีกทั้งยังมีน้ำใจเสียเวลามานั่งพูด มานั่งอธิบาย ตอบคำถามนักข่าวช่างซักทั้งหลายจนหมดเปลือก
แม้ว่าจะสุ่มเสี่ยงกับการถูกนำไปโควทก็ตาม….????
นับเป็นโครงการที่ดีที่น่าจะสานต่อ แต่อาจไม่ต้องเป็นคอร์สยาว 6 สัปดาห์ก็ได้ หรือถ้าอยากวัดผลความเข้าใจ หลังจากนั่งฟังนั่งเรียนกันสมองโต หลังขดหลังแข็งแล้ว สมาคมฯ น่าจะจัดเป็นเวิร์คช็อป หรือ จัดกิจกรรมวัดผลความรู้ความเข้าใจเพิ่มด้วยก็น่าจะดี
ความจริงแล้วมีหลายอย่างมากที่เราประทับใจจากกิจกรรมนี้ เช่น เรื่องการจัดหัวข้อบรรยาย ก็เป็นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์กับการทำงานข่าว และเป็นประโยชน์กับคนอ่านข่าวอีกทอดหนึ่ง เหมือนกับที่อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศได้พูดไว้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกของการเรียน
อีกอย่างต้องขอบอกว่า อาหารการกินที่ม.ธุรกิจบัณฑิตย์จัดไว้อร่อยมาก ทำให้นักข่าวรายได้ไม่มากนักอย่างเราๆ ประหยัดค่าข้าวค่าขนมได้อีก 1 วัน
ส่วนวันที่เรียนแล้วสนุก และตื่นเต้นที่สุดคงเป็นวันที่เรียนกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เพราะเป็นวันที่ผู้บรรยายเดินถือไมค์จ่อปากให้นักเรียนนักข่าวทั้งหลายคิดและมีส่วนร่วมกับการบรรยาย ทำให้บ่ายวันนั้นไม่มีใครกล้าแอบงีบหลับเลยซักคน
แต่เรื่องที่น่าเสียดายคือ ไม่ได้ฟังบรรยายหัวข้อสุดท้ายของการอบรม ซึ่งจะมีอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์และอาจารย์เกษียร เตชะพีระมาพูด หัวเรื่องนี้มีเพื่อนๆ นักข่าวหลายคนยังบอกว่าเสียดายและคิดว่าเป็นอีกหนึ่งหัวข้อไฮไลท์ของโครงการ
ยังไงถ้าสมาคมฯ จะจัดเพิ่มอีก 1 หัวข้อ ในเรื่องนี้ก็น่าจะมีคนลงชื่อเรียนอยู่ ฝากพี่มลและกรรมการสมาคมฯ ช่วยรับพิจารณาด้วยนะคะ

เสมอใจ มณีโชติ
ผู้สื่อข่าวสายคมนาคม/ฐานเศรษฐกิจ
        ระยะเวลา 36ชั่วโมงของการเข้าร่วมโครงการอบรมให้ความรู้แก่ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ 2006 ที่ทางสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเปิดเวทีให้สมาชิกในไร่ส้ม เข้าร่วมกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้ใช้เวทีนี้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะการก้าวเข้ามาสู่วิชาชีพนี้  ยังมีหลายคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ในการเขียน ยกเว้นสมาชิกที่จบการศึกษาในสาขานิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่พกพาวิชาชีพด้านงานเขียนเข้ามาแต่บางคนก็ไม่ได้มีความเข้าใจในด้านเศรษฐกิจ การเงิน และตลาดทุน อย่างถ่องแท้ ทำให้การนำเสนอข่าวเป็นไปอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่ครอบคลุมในพื้นฐานความรู้
การมีโอกาสขยายกรอบความรู้นอกรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการมี “กูรู”ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์  การเงิน  ตลาดทุนโดยยังหมายรวมถึงกฎหมายและระเบียบปฏิบัติทั้งภาคธุรกิจ  รวมถึงหน่วยของเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ขณะเดียวกันได้เชื่อมโยงความรู้สู่โลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีที่กำลังคุกรุ่น
ที่สำคัญการที่เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพของประเทศได้ฉันใด ในทางเดียวกัน การที่สื่อมวลชนได้เพาะบ่มความเชี่ยวชาญและการเชื่อมโยงความรู้บนพื้นฐานของงานเขียนและการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะประโยชน์ในการหาข้อมูลที่จะนำเสนอข่าวในเชิงวิเคราะห์นั้นย่อมส่งผลต่อชิ้นงานข่าวและการนำเสนอได้อย่างไม่เคอะเขิน
โดยสรุปแล้วเห็นว่า การอบรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากการสัมภาษณ์ มีการให้ข้อมูลในเชิงลึกในเรื่องนั้น ๆ เพื่อต่อยอดการทำข่าวให้แตกฉานมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในโอกาสต่อไปหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สมาคมฯจะให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเพิ่มพูนทักษะการทำงานของนักข่าวให้มีประสิทธิภาพ

นัญญา มูลเพ็ญ
“น้องผักกาด” ประชาชาติธุรกิจ
การอบรมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก สำหรับการหาความรู้เพิ่มเติมของผู้สื่อข่าว เพื่อนำไปใช้กับวิชาชีพ โดยเฉพาะกับผู้สื่อข่าวใหม่ที่ไม่ได้จบด้านเศรษฐศาสตร์ หรือการเงินแล้วต้องมาทำข่าวเศรษฐกิจ หากไม่ได้เรียนหรืออบรมเพิ่มเติมอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจเนื้อหางานที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก ที่จะได้รับความรู้จาก “ผู้รู้จริง” ในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นหม่อมอุ๋ย ผู้ว่าการแบงก์ชาติ, ดร.อัมมาร สยามวาลา, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ รวมถึงหลายๆท่านที่แทบหางานครั้งไหนไม่ได้ ที่ทั้งหมดจะมารวมตัวกันได้
หากมีโอกาสอีกคิดว่าน่าจะจัดการอบรมลักษณะนี้อย่างน้อยปีละครั้ง หรือจัดให้เป็นประเพณีเลย เช่น กำหนดว่าช่วงเดือนใด สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจะเปิดอบรมในเรื่องอะไร
และที่อยากเสนอเพิ่มเติมสำหรับการอบรมครั้งต่อไป นอกจากจัดอบรมด้านเศรษฐกิจแล้ว สมาคมน่าจะจัดอบรมความรู้ด้านภาษาอังกฤษด้วย ทั้งด้านการอ่าน พูดและเขียน เพราะคิดว่าน่าจะเป็นอีกคอร์สหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวไม่แพ้การอบรมครั้งนี้อย่างแน่นอนค่ะ
(พี่ๆกรรมการสมาคมฯฝากบอกว่าปีนี้ก็มีโครงการทุนเรียนภาษาอยู่แล้วจ๊ะ แต่ให้สิทธิ์เฉพาะนักข่าวที่เป็นสมาชิกไม่ต่ำ 1 ปี)

จันทพร พลสุวรรณา
“น้องโอ๋” ประชาชาติธุรกิจ
นับเป็นสิทธิพิเศษมากๆค่ะ ที่ได้ร่วมโครงการอบรมแก่ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจปีนี้ คงไม่มีโอกาสดีๆแบบนี้บ่อยนัก ที่จะได้เป็นลูกศิษย์ของเหล่าบรมมาจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศกว่า 10 ท่าน ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จริง และความรู้ ภายในระยะเวลาแค่เดือนเศษๆ แม้ว่าจะสั้นไปหน่อย แต่ก็ได้ความรู้เยอะมาก
ส่วนตัวแล้วชื่นชอบการสอนที่ออกแนววิชาการ ให้ความรู้ในหลักการ แต่ให้คิด วิเคราะห์ และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์จริงๆที่เกิดขึ้นในสังคมได้
ที่ประทับใจเป็นการส่วนตัว คงเป็นการบรรยายของ อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “เศรษฐศาสตร์ ทางเลือกกับโลกาภิวัฒน์” สัปดาห์แรกของการอบรม ด้วยสไตล์ความเป็นอาจารย์ ทำให้มีแนววิชาการ หรือหลักการสอนแน่นปึก บวกกับอาจารย์ ยังอายุไม่มากนัก ภาษาที่ใช้ก็เข้าใจง่าย และยกตัวอย่างเปรียบเทียบได้ดี
อีกท่านหนึ่งที่ชอบไม่แพ้กัน ก็คือช่วงของ อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากทีดีอาร์ไอ บรรยายเรื่อง “ผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรี” อาจารย์ชี้ให้เห็นผลดีผลเสียที่ครอบคลุมทุกฝ่าย ว่าใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์บ้าง จากข้อตกลงการค้าเสรีในปัจจุบัน ทำให้มีมุมมองที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากในการทำข่าวในอนาคต
อ้อ!! อีกเรื่องค่ะ คิดว่าทุกคนคงเห็นด้วยแน่ๆ เพราะประทับใจเป็นที่สุดของที่สุดเลย คือ อาหารกลางวันอร่อยมั่กๆ เสียดายจังที่ปิดโครงการไปก่อน ก็เลยไม่อดเลย …

ปรวรรณ ปานปั้น /มติชน
ตอนที่รู้ว่าสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจะจัดโครงการนี้ ความคิดในตอนนั้นคือ จะต้องไปเรียนให้ได้ แต่ตอนหลังรู้ว่ามีนักข่าวอีกมากก็อยากเรียนเหมือนกันเลยเริ่มถอดใจว่าตัวเองคงไม่ได้ไปเรียนแล้ว เพราะเพิ่งเป็นสมาชิกได้ไม่นาน แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับสิทธิ์นั้นมา จึงตั้งใจว่าจะไปเรียนให้ครบทุกครั้งเพราะมีนักข่าวอีกหลายคนที่พลาดโอกาสไป และเมื่อเริ่มเรียนจนถึงวันสุดท้ายของการเรียนทั้งหมด 6 สัปดาห์ ยิ่งทำให้คิดว่าถ้าไม่ได้มาเรียนคงเสียดายแย่
เพราะแหล่งข่าวที่มาเป็นวิทยากรแต่ละคนสลัดภาพของแหล่งข่าวมาเป็นอาจารย์ที่ให้ความรู้กับลูกศิษย์แบบไม่มีกั๊กเหมือนเวลาเป็นแหล่งข่าว ตอบคำถามทุกคำถามที่ลูกศิษย์อยากรู้ การเรียนจึงเป็นไปอย่างผ่อนคลายสบายๆ และอาจารย์เหล่านี้แม้ว่าจะมีเวลาให้ลูกศิษย์เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ผลที่ได้อย่างน้อยก็ทำให้เรามั่นใจที่จะไปทำข่าวนอกสายที่เรารับผิดชอบโดยตรงมากขึ้น เรื่องที่เคยคิดว่ายากก็อาจไม่ได้ยากอย่างที่เคยคิด ก็หวังว่าสมาคมฯจะจัดโครงการลักษณะนี้ขึ้นอีกเพื่อให้โอกาสนักข่าวทุกคนได้ความรู้กว้างขึ้นเช่นกัน

“พรหมมินทร์ งามจั่นศรี”
โต๊ะข่าวรถยนต์/การตลาด นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
เข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมต่างๆ มามากมาย กล้ายืนยันได้เลยครับว่า กิจกรรมอบรมความรู้เศรษฐกิจครั้งนี้สร้างความประทับใจและเป็นกิจกรรมที่ดีมากที่สุดกิจกรรมหนึ่ง ที่เคยสัมผัสมา ไม่ว่าจะเป็นตัวของวิทยากรและเนื้อหาของการบรรยาย แม้ว่าหลายเรื่องผมอาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่มีอารมณ์ร่วมในการอบรม แต่ก็ได้รู้จักเพื่อนนักข่าวสายอื่น โดยเฉพาะสายเศรษฐกิจมหภาค และก็ได้รู้จักกับตัวแหล่งข่าวที่ไม่เคยพบเจอ ที่บางคนดูเป็นไอดอลและเรตติ้งดีซะเหลือเกินในสายตานักข่าวสายนั้นๆ (ดูได้จากบางคลาสที่นั่งไม่พอ)
อยากให้มีกิจกรรมนี้และกิจกรรมที่มีคุณภาพเช่นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องนะครับ ข้อแนะนำคงไม่มี เพราะเสนอไปในแบบสอบถามความคิดเห็นหมดแล้ว ขอให้กำลังใจพี่ๆ ทุกคนนะครับ ดูแลพวกเราดีมากเลยครับ

กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง
(พี่ต้อย…นักเรียนกิตติมศักดิ์ จากเคทีซี)
ตั้งแต่รู้ว่าจะได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมกับทางสมาคมฯ ก็เตรียมเคลียร์คิวงานทั้งหมด โดยขออนุญาตโดดงานจากคุณนิวัตต์เป็นกรณีพิเศษไป 2 อีเว้นท์ เพราะกลัวท่านนายกฯ(สมาคมฯ)จะโกรธหาว่าไม่ตั้งใจเรียน
ส่วนตัวรู้สึกประทับใจในความตั้งใจทำงานของคณะผู้จัดตั้งแต่การใช้ หลากหลายแชนแนลในการแจ้งวันเวลาสถานที่ให้ทราบล่วงหน้า ทั้งแฟ็กซ์ โทรศัพท์ และตามด้วย SMS เมื่อไปถึงไม่ว่าจะไปเช้าขนาดไหนก็จะได้พบกับรอยยิ้มของคณะผู้จัดพร้อมใจกันยืนรอ (เช็คชื่อ) อยู่หน้าห้อง
หัวข้อในการอบรมทั้ง 6 สัปดาห์ ก็อินเทรนด์และเป็นประโยชน์อย่างที่สุด ออกแนวถ้าไม่เรียนรู้ดูท่าจะเอ้าท์แน่ ๆ วิทยากรทุกท่านถือเป็นกูรูระดับประเทศ ให้ความรู้กันเต็มที่แบบออฟเรคคอร์ด บางคลาสที่มีสอนตอนช่วงบ่ายเช่นคลาส FTA มีการเรียกถามเช็คเรทติ้งกันรายตัวแบบไม่ต้องกลัวว่าจะง่วง ตื่นเต้นดีแต่แอบมีลุ้น แต่ก็ถือว่าเป็นคลาสที่ชอบที่สุดเพราะนอกเหนือจากความรู้เรื่อง FTA แล้ว ยังได้เรียนรู้ถึงวิธีการคิดและการจับประเด็นที่สำคัญอีกด้วย
บรรยากาศในการเรียนเป็นไปอย่างอบอุ่นแบบเป็นกันเอง ทุกคนตั้งใจมาเรียนโดยไม่มีใครลืมเซ็นชื่อลงทะเบียนทั้งภาคเช้าภาคบ่าย ไม่รู้กลัวอะไรกันน๊า?!! อาหารมีให้ทานอย่างเต็มที่ อร่อยทุกมื้อทั้งอาหารหลักอาหารว่าง ไม่ปล่อยให้พวกเรามีโอกาสหิวกันเลย
อยากจะขอแสดงความขอบคุณจากใจไปยังคณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะท่านนายกสมาคมฯ (คุณวิมล ตัน) ที่ให้โอกาสเข้าไปเรียนหนังสือด้วยในครั้งนี้ และขอขอบคุณธนาคารกรุงเทพที่เป็นสปอนเซอร์จัดอบรม ขอขอบคุณน้องๆทีมงานที่ช่วยจัดเตรียมเอกสาร สถานที่ และอื่นๆให้ ขอบอกว่าประทับใจมากๆเพราะได้รับความรู้มากมายและทำให้ได้รู้จักน้องๆ ผู้สื่อข่าวที่น่ารักจากสายอื่นๆอีกหลายคน ถ้าเป็นไปได้อยากให้จัดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้อีกเรื่อยๆและขอมีส่วนร่วมอีกถ้าเป็นไปได้นะคะ

และนี่ก็คือตัวอย่างความเห็นบางส่วนของผู้ที่เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเท่านั้น และถ้าสมาชิกที่ไม่อยากพลาดกิจกรรมดีๆของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจละก้อ ขอแนะนำให้แวะเข้าไปดูข้อมูลกิจกรรมของสมาคมฯได้ที่เวบไซต์ www.econmass.com เป็นการด่วน