Home สื่อเศรษฐกิจ รายงานพิเศษ ( Economic Focus )

รายงานพิเศษ ( Economic Focus )

by admin
1083 views

คนข่าว ใช้ชีวิตอย่างไร ในยุคค่าครองชีพสูง
โดย……นิธิดา อัศวนิพนธ์

แอน-นันทนา แสงมิตร
ผู้สื่อข่าวสายการตลาด หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน
“ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ใช้ชีวิตเรียบง่ายแต่ชีวิตคงเดิม”

ช่วงปีใหม่ มีเพื่อนคนหนึ่งเคยเป็นนักข่าวสายการเงิน นิตยสารการเงิน-การธนาคาร ตอนนี้เปลี่ยนบทบาทไปเป็นประชาสัมพันธ์ให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ส่งข้อความอวยพร ปีใหม่ เรื่องหลักคิด 7 อย่าง นอกจากปลดปล่อยจิตใจจากความโกรธ, ความวิตกกังวล, คาดหวังน้อย, รู้จักเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ, ยิ้มสู้ ,ไม่ส่องกระจก อีกเรื่องหลักคือ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นเรื่องที่เหมาะกับการนำมาปรับใช้ในยุคเศรษฐกิจถดถอยได้เป็นอย่างดี

เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ ปรับลดเงื่อนไขในการใช้ชีวิตลง แต่ชีวิตยังคงเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจนรู้สึกว่าต้องสูญเสียความเป็นตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อน เป็นคนรักสบาย จากที่พักมาทำงานต้องนั่งรถแท็กซี่แอร์เย็นฉ่ำตลอด ปรับทัศนคติใหม่ หันมานั่งรถเมล์บ้างในวันที่ไม่เร่งรีบกับเรื่องงานข่าวมากเกินไป ทุกสิ้นเดือนไปจ่ายบัตรเครดิตตรงธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ เสร็จธุระต้องนั่งรถไปสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าเมืองทำข่าว อีกต่อหนึ่ง เมื่อก่อนเคยสร้างเงื่อนไขกับตัวเองว่า ต้องนั่งรถเมล์ ยูโรแอร์ เท่านั้นแต่ตอนนี้ นั่งรถเมล์ร้อนก็ได้ ระยะทางใกล้แค่หนึ่งป้ายรถเมล์เอง เมื่อก่อน ไม่ชอบทานอาหารตามโรงแรม เพราะเห็นว่าอาหารไม่อร่อย สู้ส้มตำ แกงส้ม แกงไตปลา ข้างโรงแรมก็ไม่ได้ ก็ปรับทัศนคติเสียใหม่ ถ้าบริษัทไหนเลี้ยงข้าวเที่ยง ทานข้าวตามโรงแรมก็ดี แม้อาหารไม่อร่อย แต่ทำให้ชีวิตเรียบง่ายขึ้น ไม่ต้องออกไปหากินข้างนอกให้เปลืองเวลาอีก
สำคัญสุดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ต้องคิดบวก หาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองให้รู้สึกดีอยู่เสมอ ขอยกตัวอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ช่วงน้ำมันในตลาดโลกพุ่งพรวด จนถึง 100 เหรียญต่อบาร์เรล โอเปคบอกว่า เป็นเรื่องของการเก็งกำไรจากปัญหาซับไพร์ม ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะไม่เพิ่มกำลังการผลิตแล้ว ทำเอาคนมีรถส่วนใหญ่ร้องจ๊าก บางคนจอดรถไว้บ้าน หรือปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนด้านอื่น เราก็บอกกับตัวเองว่า “โชคดีจัง…ไม่มีตังค์ซื้อรถ”

เซน-เกรียงศักดิ์ เยี่ยงศุภพานนทร์
ผู้สื่อข่าวสายการตลาด หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
“ใช้ในสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ไม่ลืมให้รางวัลกับชีวิตเพื่อกำลังใจต่อไป”

ใช้ในสิ่งที่จำเป็น พิจารณาโดยรอบคอบว่าสิ่งไหนที่ใช้แล้วเกิดประโยชน์จริงๆ มีเวลาว่างก็น่าจะอะไรที่ทำแล้วเกิดประโยชน์และมีรายได้ด้วยโดยไม่กระทบกับงานหลัก และอะไรที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวหรือระหว่างเพื่อน เช่น การเดินทาง อาจจะถามเขาเหล่านั้นว่าใครจะกลับทางเดียวกันก็ขอให้กลับด้วยกัน หรือเอากับข้าวไปทานร่วมกันกับเพื่อนที่ที่ทำงาน ส่วนภายในครอบครัวนั้น ก็สอนลูกให้รู้จักใช้เงินอย่างถูกต้อง ส่วน รายได้ที่ได้มาก็แบ่งเป็นสามส่วนหลักๆ ส่วนแรกสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนที่สองก็เก็บ ส่วนที่สามสำหรับใช้ในสิ่งที่เพื่อให้รางวัลตัวเองกับครอบครัวเพื่อจะได้มีกำลังใจและทำให้ชีวิตคิดบวกท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอย และสิ่งสำคัญ ถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับการใช้เงิน แต่ขอแนะนำว่าอย่าเอาแต่คิดมากกับสถานการณ์ต่างๆ

เมล์-นัยน์ปภรณ์ นาระตะ
ผู้สื่อข่าวสายการตลาด หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
“ท่องคำว่า (คุ้มค่า) ให้ขึ้นใจ”
ในยุคที่ค่าครองชีพสูงลิ่ว คงต้องท่องคำว่า “คุ้มค่า” ให้ขึ้นใจ ทำอะไรก็ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งทำได้ในทุกส่วนชีวิตจริงๆ ในหน้าที่การงาน ออกไปสัมภาษณ์ข่าว 1 หมาย ก็ตั้งเป้าเขียนได้ 1 ข่าว 1 สกู๊ป, จะซื้อเสื้อสักตัว ก็ต้องแมตช์ได้หลายๆ ชุดหลายๆ แนว, ทางเดียวกันหารค่าแท็กซี่กัน และของบางอย่างที่มีมากกว่าจำเป็น ก็เอื้อเฟื้อแบ่งปันแก่ครอบข้างเพิ่มคุณค่าให้กับของที่มี และยังเพิ่มคุณค่าให้ชีวิตได้มากกว่าที่คิด

ซุย คี นัน
ผู้สื่อข่าวสายการเงิน หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น
“ใช้ของมือสองและใช้ของอย่างพอเพียง”
pict_sui.jpgไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ยกเว้นว่าใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ตัดรายจ่ายทุกอย่างที่ตัดได้ และของบางอย่างถ้าใช้ด้วยกันได้กับญาติพี่น้อง ก็เอามาใช้ร่วมกันก่อน เช่น ถ้าอยากได้ไม้เทนนิสแทนที่จะต้องซื้อของใหม่ ก็ใช้ของที่พี่ใช้แล้ว คือของอะไรที่ใช้มือสองได้ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ตลอด หรือของอะไรที่ใช้กับเพื่อนบ้านก็แบ่งปันกันใช้คือยืมซึ่งกันและกันได้ พยามหาของที่ให้ความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุดหรือสามารถต่อรองราคาได้ และถ้าอยากเที่ยวหรือหาความบันเทิงให้ชีวิตก็จะใช้แบบสมเหตุสมผลมากขึ้น
ใช้ของมือสองและใช้ของอย่างพอเพียง

สุกัญญา สินถิรศักดิ์
ผู้สื่อข่าวสายอสังหาริมทรัพย์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ บิซวีค
“ออกจากบ้านเร็วขึ้น เพื่อประหยัดค่าแท็กซี่”
pict_bow.jpg ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นมากสุด จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และส่วนใหญ่จำเป็นต้องไปทำข่าวตามสถานที่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้า ก็จะใช้วิธีการซื้อบัตรรถไฟฟ้ารายเดือน เพื่อให้ได้ราคาค่ารถไฟฟ้าต่อเที่ยวที่ถูกลง ในแต่ละวันของการเดินทางไปทำข่าว จะวางแผนการเดินทางจากบ้านไปถึงสถานที่ปลายทาง หากต้องใช้เส้นทางรถไฟฟ้า จะออกจากบ้านให้เช้าขึ้น เพื่อลดการใช้แท็กซี่ไปสถานีรถไฟฟ้า และลดการใช้รถมอเตอร์ไซค์จากสถานีปลายทางไปถึงสถานที่จัดงาน หรือหากเป็นเส้นทางที่เดินทางด้วยรถประจำทางสะดวก ก็จะออกจากบ้านให้เช้า และใช้รถเมล์ธรรมดาในการเดินทาง