Home สื่อเศรษฐกิจ เรื่องจากปก

เรื่องจากปก

by admin
1032 views

โดย……อนันตเดช พงษ์พันธุ์
ภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง…จะไปทางไหน…เมื่อหมอกควันทางการเมืองเริ่มเบาบาง…
เมื่อตอนต้นปี 2550 หลายคนมองว่าน่าจะเป็นปีหมูทอง เพราะสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มชัดเจน…แต่อยู่มาได้ 3 เดือน ผู้คนก็เริ่มโอดโอย เพราะสิ่งที่ทุกคนคาดว่าจะจบกลับไม่ยอมจบ…ซ้ำ กลับส่อแววว่าจะเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังต่อไป…ทำให้ดัชนีทางเศรษฐกิจทุกตัวหล่นวูบลง จนต้องปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจทุกประเภท ต้องเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน

เมื่อขึ้นไตรมาส 2 อะไรๆ ก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น จนกระทั่งมีการตัดสินยุบพรรคการเมือง และนายกรัฐมนตรีประกาศวันเลือกตั้ง ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่วางไว้ในเดือนธันวาคม ทำให้หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำแล้ว
เดือนกรกฎาคม เดือนเริ่มต้นไตรมาส 3 คงได้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจแต่ละกลุ่มว่าไปอย่างไร ซึ่งนั่นหมายความ ว่าก็พอจะบอกได้ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง จะถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกตัวไหน
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้นประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ 1. การส่งออก-นำเข้า 2.การลงทุนภาคเอกชน(อุตสาหกรรม) 3.การลงทุนของภาครัฐ (เงินงบประมาณ) 4.การบริโภคของภาคเอกชน
สำหรับแนวโน้มของเครื่องยนต์ตัวหลักตัวแรก คือการส่งออกและนำเข้า…สถานการณ์ ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม มีมูลค่าการส่งออก 13,049.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ก่อน 20.9 % ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้การส่งออก ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าทั้งสิ้น 58,747.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 18.8 % โดยแต่ละกลุ่มสินค้า ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม อาหารแปรรูป มีปริมาณการส่งออกสูงขึ้นทุกตลาดทั่วโลก
ขณะที่การนำเข้าเดือนพฤษภาคม มีการนำเข้า 12,248.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7 % โดยทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป สินค้าอุปโภค-บริโภค สูงขึ้นตามลำดับ ส่วนสินค้าเชื้อเพลิงมีอัตราลดลง ขณะที่การนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 53,420.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.4 % ซึ่งดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม เกินดุล 802 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลการค้ารวม 5,326.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ไทยขาดดุลการค้า 1,753 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกในปี 2550 น่าจะขยายตัวตามคาดหมาย คือ 12.5 % คิดเป็นมูลค่า 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากไม่มีสถานการณ์เหนือคาดหมาย ราคาน้ำมันไม่ผันผวน เศรษฐกิจโลกเอื้ออำนวย และสามารถหาตลาดใหม่ๆ น่าจะทำให้ไทยเกินดุลการค้าไม่ต่ำกว่า 8,000-9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อ ตลอดปี 2550 จะเป็นไปตามคาด คือ ร้อยละ 2-2.5
ส่วนเครื่องยนต์หลักตัวที่สอง คือการลงทุนภาคเอกชน หรือ ภาคอุตสาหกรรม นั้น สถานการณ์ล่าสุดเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว โดย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 86.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนซึ่งอยู่ที่ระดับ 77 โดยมีปัจจัยบวกด้านยอดขายและยอดคำสั่ง ซื้อเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยลดลงทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการดีขึ้น นับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะมีการขยายการลงทุนในไตรมาสที่ 3 และ 4 ทำให้เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัว ในครึ่งปีหลัง
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่าการที่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก ส่วนสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมที่มีการสำรวจยอดคำสั่งซื้อและยอดขายมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งมีปัจจัยบวกด้านอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินของการประกอบการปรับตัวลดลง ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง จึงล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากค่าดัชนีความเชื่อมั่นมีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะถือเป็นสัญญาณที่ดีมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
“ปัจจัยที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดีขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการมีความเห็นว่าสถานการณ์การเมืองยังคงเป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งความเชื่อมั่นในการลงทุน แต่ผู้ประกอบการมองว่าหากร่างรัฐธรรมนูญสามารถผ่านประชามติและการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้าย”
ส่วนเครื่องยนต์หลักตัวที่ 3 คือการใช้จ่ายของภาครัฐนั้นแน่นอนว่ามาจากเงินงบประมาณ ตัวเลข 8 เดือนของปีงบประมาณ 2550 มีการเบิกจ่ายของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 990,363 ล้านล้านบาท สูงกว่าการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.1 โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 906,609 ล้านบาท อัตราการเบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 57.9 ของวงเงินงบประมาณ (1,566,200 ล้านบาท) และรายจ่ายปีก่อน 83,754 ล้านบาท…ก่อนสิ้นปีงบประมาณปี 50 รัฐบาลคงกระตุ้นการเบิกจ่ายให้ได้อย่างน้อย 85-90 % ของงบประมาณ
และถึงตอนนี้รัฐบาลเองก็คงจะรู้ตัวว่าจะต้องเป็นตัวนำในการเรียกความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยใช้การลงทุนของภาครัฐเป็นตัวนำ กรอบงบประมาณจึงตั้งไว้สูงถึงประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลก็รู้ว่าไม่น่าจะหารายได้เท่ากับกับรายจ่ายจึงได้ตั้งเป็นงบประมาณขาดดุล และที่น่าสังเกตคือมีการขยายกรอบการขาดดุลงบประมาณเพิ่มด้วย ซึ่งจำนวนที่เพิ่มนั้นก็เพื่อมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ….ตัวอย่างชัดเจนคือการเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการอีกร้อยละ 4 รวมประมาณ 17,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ และมีงบประมาณอีก 8,000 ล้านบาท เตรียมกระจายสู่ชุมชน ผ่านทางโครงการอยู่ดีมีสุข
ส่วนเครื่องยนต์หลักที่ 4 คือการบริโภคในประเทศนั้น แน่นอนว่าในภาวะที่การเมืองยังไม่สะเด็ดน้ำ ไฟใต้ยังคงคุกรุ่นแบบนี้ ยากเหลือเกินที่จะทำให้คนกล้าที่จะใช้จ่ายเงิน…รัฐจึงต้องออกแรงกระตุ้นโดยเฉพาะกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะหากภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวก็จะพาเอาธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ขยายตัวตามไปด้วย ไล่ไปตั้งแต่ เหล็ก หิน ดิน ทราย เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไล่ไปจนถึงวงการสื่อ ดังนั้นรัฐต้องออกอกมาตรการ เพิ่มค่าลดหย่อนดอกเบี้ยผ่อนชำระบ้านจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท ซึ่งถ้ายังไม่เวิร์กอีก รัฐบาลก็คงออกมาตรการอะไรแรงๆ มาอีกระลอก…อาจจะใช้มาตรการภาษี หรือ มาตรการ การเงิน (ผ่านทางสถาบันการเงินของรัฐ) เป็นเครื่องมือ
ส่วนภาพของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังโดยภาพรวมนั้น…ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะมีความชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2550 เป็นต้นไป เป็นผลจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่น่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น ตลอดจนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2550 แรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระบบที่นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าปัจจัยบวกต่างๆ เหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-5.0 ในครึ่งหลังของปี 2550 เมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.0-3.5 ในช่วงครึ่งปีแรก
เมื่อไล่เรียงแจกแจงกันจะจะแบบนี้ก็ดูเหมือนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังพอจะดูมีความหวังได้บ้าง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีปัจจัยที่ต้องกังวล เหมือนอย่างที่ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวไว้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม เป็นห่วงเรื่องความเชื่อมั่นและการบริโภคของประชาชน ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมากอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งโดยเร็วในปลายปีนี้ และการเมืองมีความชัดเจน น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา เช่นเดียวกับนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่แสดงความกังวลถึง สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง รวมทั้งสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งก็คงเหมือนกับผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่เลือกที่จะรอดูความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง ทั้งในประเด็นด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ
และมาถึงตรงนี้แล้วทั้งหลายทั้งปวงก็มิอาจจะปฏิเสธได้ว่า ต่อจากนี้ ประเทศชาติ บ้านเมือง ภาวะเศรษฐกิจ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร…มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้บริหารประเทศขณะนี้…ว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองมันสงบสุขเสียที…