นักธุรกิจไม่คาดหวังในเนื้อหาของ
รัฐธรรมนูญ…
แค่ขอให้ประกาศใช้ได้ตามกำหนดก็พอ…
โดย อนันตเดช พงษ์พันธุ์
หลายคนคงเห็นตรงกันว่าความสับสนวุ่นวานทางการเมืองตอนนี้เป็นปัจจัยลบสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ และหลายคนก็เห็นตรงกันอีกนั่นแหละว่า สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้น ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าต้องมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ดังนั้นทั้งหลายทั้งปวงทำให้คิดได้ว่าความหวังของประเทศไทยตอนนี้ก็คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั่นเอง….แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นภาวะ “Dead Lock”
ต้องยอมรับว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านกระบวนการซับซ้อนมากมายหลายขั้นตอนกว่าที่ผ่านๆ มา แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่รู้จะคาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มากน้อยแค่ไหน…
แต่สิ่งหนึ่งที่เรา (สมาคมผู้ข่าวเศรษฐกิจ) ที่พอจะทำได้ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม คือการสะท้อนมุมมองและความคิดของกลุ่มคนสำคัญ โดยเฉพาะ “นักธุรกิจ” ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญกลุ่มหนึ่งในสังคม
คุณวิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท อารียา พร็อพเพอร์ตี้…บอกว่ายังตั้งความหวังอะไรในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้แน่ เชื่อว่าหลักจากที่มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรรมนูญอีกครั้ง ตอนนี้เท่าที่ดูมีปัญหาหลายจุดที่ไม่รู้จะหาข้อยุติอย่างไร เช่น เรื่องศาสนาประจำชาติ เรื่องที่มา ส.ส.และ ส.ว. เรื่องการให้ความสำคัญของเกษตรกรและอาชีพอื่น
แต่ถึงกระนั้นตอนนี้ก็ต้องการให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญออกมาก่อน เพื่อจะได้เกิดการเลือกตั้งซึ่งจะได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขืนปล่อยให้การเมืองยังอึมครึมอยู่อย่างนี้จะเกิดความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน โดยเฉพาะในประเด็นของขีดความสามารถในการแข่งขัน
“แม้ว่าจะไม่ได้คาดหวังในเรื่องรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อย่างน้อยก็ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักว่า อย่างน้อยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะสร้างปัญหาอื่นตามมาอีก และก็ไม่อยากให้เขียนออกมาเพื่อแก้ปัญหาแบบ “วัวหายล้อมคอก” อย่างประเด็นที่มาของ ส.ส. และ ส.ว.” วิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี กล่าว
ไม่เพียงแต่คุณวิศิษฎ์เท่านั้นที่ดูเหมือนจะไม่คาดหวังอะไรกับรัฐธรรมนูญ เสียงสะท้อนจาก คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ คุณสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ชี้ชัดว่า ภาคธุรกิจหวังอะไรโดยตรงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้…ทั้งสองคนพูดตรงกันว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นระบุสาระเกี่ยวกับภาคธุรกิจไว้น้อยมาก สิ่งที่ต้องรอดูต่อจากนี้คือกฎหมายลูกและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะออกตามมา
และก็เหมือนกับที่คุณไพบูลย์ พลสุวรรณ รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สทร.) ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจค่อนข้างน้อย
นอกจากเรื่องของความใส่ใจในภาคธุรกิจค่อนข้างน้อยของรัฐธรรมนูญ นักธุรกิจ ชั้นนำด้านการเงินการธนาคารอย่าง คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องความแตกแยกทางความคิดด้วย เขาเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยสันติวิธี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย
ประเด็นของ คุณบัณฑูร สอดคล้อง กับนักธุรกิจอีกหลายคน ทั้ง คุณศุภกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์นครหลวง คุณสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย คุณชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ คุณสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าปลีกค้าส่งไทย และ คุณพรชัย ชื่นชมลดา นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ…และเชื่อว่าจะเหมือนกับนักธุรกิจทุกคน…ที่เกรงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ผ่าน
ทุกคนเชื่อว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่ผ่าน ก็ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาแก้ไขเพื่อประกาศใช้ต่อไป แต่ไม่รู้กระบวนการจะใช้ระยะเวลาแค่ไหน และเชื่อว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริงการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นภายในปีนี้แน่นอน…ซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เลวร้ายลงไปกว่านี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่ตอนนี้แทบจะไม่มีอยู่แล้วก็จะกลายเป็นติดลบ ขณะที่ภาคการบริโภคในประเทศจากที่ไม่กล้าจะใช้จ่ายก็จะกลายเป็นว่าไม่มีกำลังที่จะใช้จ่าย เพราะไม่มีงานทำ
เสียงสะท้อนเหล่านี้น่าจะพอให้ทุกคนทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญพึงสำเนียกได้ว่า โปรดได้อย่าเล่นเกมยื้ออำนาจกันอีกต่อไปเลย…เพราะประเทศบอบช้ำมามากพอแล้ว…ถ้าต้องใช้เลือดทาแผ่นดินอีกครั้ง…ต่อไปก็คงไม่มีแผ่นดินให้พวกท่านได้ยืนอีกแล้ว….