ดัชนีความสุขของนักข่าว
โดย…สุขสุดใจ
เมื่อไม่นานมานี้ เอ็นจีโอกลุ่มเล็กๆ สององค์กร คือมูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่ (New Economics Foundation) และ เพื่อนโลก (Friends of the Earth) ซึ่งเป็นสหพันธ์องค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใน 70 ประเทศ ได้ทำการสำรวจดัชนีความสุขของประชากร 178 ประเทศ โดยใช้ตัววัดคือ มาตรฐานความเป็นอยู่ ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ความพอใจในการมีชีวิต ความคาดหวังในชีวิต ปริมาณการใช้ สภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิต ปริมาณที่ดินที่เหมาะสมสำหรับจำนวนประชากร และการบริโภคพลังงาน
พวกเขาพบว่า ประเทศที่เป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้อย่างประเทศ วานูอาตู เป็นประเทศที่มีดัชนีความสุขสูงสุดเป็นอันดับ 1 ขณะที่ประเทศโคลัมเบีย คอสตาริกา โดมินิกา และปานามา ติดอันดับท็อปไฟว์ ส่วนประเทศ ไทย อยู่ อันดับ 32 แพ้ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อย่างเช่น ศรีลังกาที่ได้อันดับ 15 ฟิลิปปินส์ ที่อยู่อันดับ 17 และ อินโดนีเซีย ที่ได้อันดับ 23
หากเชื่อตาม ข้อมูลของมูลนิธิเอ็นอีเอฟ ก็แสดงว่า ปัจจุบันคนไทย เรามีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก มีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย ไม่พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่และต้องดิ้นรนไขว่คว้าหาความสุขอยู่ตลอดเวลา ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง แล้วใครละที่ทำให้เราต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น
เมื่อสำรวจดูสภาพแวดล้อมรายรอบตัวในชีวิตของการทำงานแต่ละวัน ผมก็ยังรู้สึกว่า ไทยยังเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก และอยู่แล้วมีความสุขที่สุด ที่บอกเช่นนั้น เพราะผมยังเชื่อว่า ไทยเรายังเป็น เมืองแห่งรอยยิ้ม เมืองแห่งมิตรภาพ มีความเอื้ออาทรต่อกันและกันในยามวิกฤต พร้อมที่จะพูดคำว่า “Welcome to Thailand” กับนักท่องเที่ยวทุกคน เรามีหลักศาสนา ที่สอนให้มีความเมตตา กรุณา ไม่เบียดเบียนกันและกัน อยู่กันอย่างสันติ, มีความสามัคคี มีพระมหากษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่ ทรงทศพิธราชธรรม และครองราชย์มายาวนานถึง 60 ปี มีรัฐบาลที่ยึดเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวในการบริหารประเทศ ถ้าเราเชื่อมั่นในคุณค่าที่เรายังมีอยู่เช่นนี้แล้ว เราจะมีความสุขน้อยว่าคนในประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร ?
หันกลับมามองถึงเรื่องใกล้ตัว ถ้ามีคนถามคุณว่า “อาชีพนักข่าวเป็นอย่างไร ทำแล้วมีความสุขหรือไม่?” คงจะเป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะแต่ละคนคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปในเรื่องของความสุขจากการทำงาน อย่างไรก็ตาม ก็มีหลักการ ที่จะแต่ละคนจะนำความรู้สึกของตัวเองไปเปรียบเทียบได้ ว่าความสุขที่คุณคิด ว่าคุณมีนั้น อยู่ในขั้นใด แล้วขั้นที่สูงกว่านั้นคืออะไร
พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายถึงความสุขของคนเราว่า ว่ามีอยู่ด้วยกัน 5ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 คือ ความสุขจากการเสพวัตถุ ทั้งจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ข้อนี้เป็นความสุขสามัญที่ทุกคนในโลกปรารถนา และดิ้นรนทะยานไป เมื่อได้มาก ก็มีความสุขมาก แล้วก็เพลิดเพลินไปกับความสุขเหล่านั้นขั้นที่ 2 สุขที่เกิดจากคุณธรรม ความมี เมตตา กรุณา มีศรัทธา แต่ก่อนนี้ชีวิตเคยต้องได้วัตถุมาเสพต้องได้ ต้องเอาจึงจะมีความสุข
ถ้าเสียก็ไม่มีความสุข แต่ คุณธรรมทำให้ใจเราเปลี่ยนไป ความรักคือเมตตา การเห็นคนอื่นมีความสุข ทำให้ตัวเองมีความสุขขั้นที่ 3 ความสุขเกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมติ
ขั้นที่ ๔ ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง คนเรามีความสามารถในการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของมนุษย์ ปรุงแต่งทุกข์ก็ได้ ปรุงแต่งสุขก็ได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้ว่าสภาพจิต 5 อย่างที่ ควรปรุงแต่งให้มีในใจอยู่เสมอ คือ
1.ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกปานใจ
2. ปีติ ความอิ่มใจ
3. ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด
4.ความสุขความโปร่งโล่งใจ คล่องใจ สะดวกใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้น หรือติดขัดคับข้อง
ภาวะที่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ไม่มีอะไรมารบกวน
ขั้นที่ ๕ สุดท้าย ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คืออยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต การเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาเห็นแจ้ง ทำให้วางจิตวางใจลงตัวสนิทสบาย กับทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่อย่างผู้เจนจบชีวิต
หากเราใช้ความสุข 5ขั้น ในทางพุทธศาสนา มาชี้วัดความสุขในการทำงานข่าว ลองมาดูความคิดเห็นของนักข่าวกลุ่มนี้ดูบ้าง ว่า ในแต่ละวันเขามีความสุขในขั้นไหน และอะไร คือความสุขในการทำงานข่าว
เริ่มต้นด้วย “จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ (ลี่)” ผู้สื่อข่าว สายแบงก์ชาติ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เธอเล่าว่า เคยฝันมาตั้งแต่มัธยมว่าอยากเป็นนักข่าว จนมาเป็นนักข่าวจริง ๆ ที่เดลินิวส์ ตอนแรกก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาทำข่าวเศรษฐกิจ พอรู้ว่าต้องมาช่วงแรก ๆ ก็เครียดเหมือนกัน เพราะคิดว่างานต้องเครียดแน่ๆ
ขึ้นชื่อว่าเศรษฐกิจคงมีตัวเลขยั้วเยี้ยไปหมด แล้วแถมศัพท์เทคนิคก็คงเยอะหน้าดู แต่อยู่ ๆ มาเรื่อย ๆ ก็เริ่มรู้สึกสนุกกับการรู้เรื่องเศรษฐกิจ ถึงบางเวลาจะรู้สึกเบื่อบ้าง แต่โดยรวมก็รู้สึกว่าการเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจมีความสุขดี เพราะทำให้เรารู้เรื่องเศรษฐกิจ ใส่ใจกับมันมากขึ้น จากเดิมที่ตอนเรียนรู้จักแต่ความบันเทิง รู้สึกเหมือนกับได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ
ชีวิตมีสาระมากขึ้น
“เคยรู้สึกบ้างเหมือนกันว่า การเป็นนักข่าวทำให้เรามีเวลาว่างส่วนตัวน้อยลง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่าอาชีพนี้เป็นอย่างนี้ ก็เลยทำใจได้ และถึงแม้ว่าจะกินเวลาส่วนตัวเราไปบ้าง แต่บางครั้งก็ทำให้เรามีความสุข เพราะการเดินทางชีพจรลงเท้าตลอดเวลา ก็ทำให้เราได้ทำกิจกรรมที่เราชอบไปด้วยในตัวอีกด้วย นั่นก็คือการถ่ายภาพ”
“วงศ์สุภัทร์ คงสวัสดิ์ (ภัทร์)” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ บอกว่า การเป็นนักข่าวทำให้รู้สึกมี อิสรเสรีภาพเหนือสิ่งอื่นใดบนความรับผิดชอบในงานของตัวเอง สุขสนุกสนานเป็นที่ซู๊ด ไม่งั้นคงไม่ขลุกอยู่กับวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่จบการศึกษาจนกระทั่งถึงวันนี้ อารมณ์รื่นเริงอยู่เป็นนิจ คิดหนักเป็นบางครั้ง เนื่องจากสมองต้องทำงานคิดประเด็นบ้าง ทำงานตามออเดอร์บ้างตามสไตล์ของหนังสือพิมพ์ เช็คข่าวได้ก็ความภาคภูมิใจ
ถ้าไม่ได้ก็ห่อเหี่ยว ทั้งนี้ทั้งนั้น เห็นว่าความสุขของนักข่าว (ส่วนตัว) งานข่าวก็คือ ทำงานได้ตามเป้าประสงค์ มีแหล่งข่าวที่ดี มีข้อมูลที่ดี เป็นความจริงมากที่สุด ก็สุดยอดแล้ว
“รัตพล อ่อนสนิท(อั๋น)” ผู้สื่อข่าวจาก สำนักข่าวดาวโจนส์ เล่าว่า ความสุขของตัวเขา ในการเป็นนักข่าว คือการทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเหตุการณ์ ให้คนส่วนใหญ่รู้ การเล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่าย หรือการเล่าเรื่องที่ดูง่ายๆให้ดูน่าสนใจ “นักข่าวทำให้เราเปิดตัวเองกับสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นทุกวันและมีโอกาสได้แบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นๆ ในหลายครั้งของการทำข่าว ยังเปิดโอกาสให้เราเป็นผู้สังเกตการณ์หรือบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยไม่คาดคิด ทำให้เรามีความสุขกับการที่ได้ทำหน้าที่สำคัญของสังคม นักข่าวเป็นใบเบิกทางที่ ทำให้เราได้พบปะพูดคุยกับผู้คนมากมาย
ตั้งแต่ระดับเศรษฐี คนมีอำนาจ คนถูกล็อตเตอรี่ คนจนหรือคนที่โชคร้ายที่สุด ทำให้เราเข้าใจในชีวิตมากขึ้น มันเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับเรา ที่มีคนจำชื่อเราได้จากข่าวของเรา มีคนทักว่าเห็นเราในทีวีวิ่งไล่ตามแหล่งข่าว”
ปิดท้ายด้วย “ศรัญญา ทองทับ (เอ๋) ” ผู้สื่อข่าวสายพลังงาน จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ บอกว่า ความสุขของการทำงานข่าว คือการได้คิดประเด็น ได้สัมภาษณ์แหล่งข่าวอย่างที่เราต้องการ และที่สำคัญคือตื่นเช้าขึ้นมาได้อ่านข่าวที่ตัวเองเขียนโดยไม่ถูกตัดทอนจาก บรรณาธิการ และรู้สึกว่าข่าวนั้นเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน
ทุกอาชีพ ทุกการทำงานล้วนมีแง่มุมของความสุขซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่า คุณค้นพบมันหรือไม่ เท่านั้น