ประวัติสมาคม
ประวัติความเป็นมา สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
จุดประกายความคิดก่อตั้ง“ชมรมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” เกิดขึ้นในวงสนทนากลุ่มเพื่อนพ้องนักหนังสือพิมพ์ ใต้ต้นจามจุรี สวนลุมพินีของนักหนังสือพิมพ์ 5 ท่าน อันประกอบด้วย ศุภเกียรติ ธารณกุล ในสมัยนั้นอยู่หนังสือพิมพ์เดลิไทม์ แต่ปัจจุบันอยู่ไทยรัฐ ปรีชา จิรวงศ์ไพโรจน์ แห่งไทยรัฐ เจียม
จีระรมย์ แห่งข่าวพาณิชย์ ภาษิต สุขสว่าง แห่งประชาธิปไตย และวิฑู รักมาก แห่งเดอะเนชั่นรีวิวด้วยความคิดที่ว่า “ข่าวเศรษฐกิจเป็นเพียงข่าวแทรกอยู่ในหน้าการเมือง ในกรณีที่ข่าวการเมืองไม่พอปิดหน้าเท่านั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องยกระดับการทำข่าวเศรษฐกิจเสียที” จากคำพูดและแนวคิดของ ศุภเกียรติ ธารณกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ที่เคยกล่าวไว้
การพบปะระหว่างคนทำหนังสือพิมพ์ 15 ชีวิต จากหนังสือพิมพ์ 9 ฉบับในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2519 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญเพราะสามารถเรียกการรวมตัวครั้งนี้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ชมรมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ”โดยมี บัณฑิต รัชวัฒนะธานินทร์ แห่งบางกอกโพสต์ ซึ่งเป็นผู้อาวุโส ได้บุกเบิกข่าวด้านเศรษฐกิจมานานและยังเป็นประธานชมรมคนแรก
และเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2521 ชมรมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้พัฒนาขึ้นเป็น “สโมสรผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” จึงยึดเอาวันนี้เป็นวันก่อตั้งอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นวันที่นายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร และกองบังคับการตำรวจนครบาลอนุมัติการจดทะเบียนก่อตั้ง กระทั่งในปี 2539 ได้ยกระดับฐานะของสโมสรผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ขึ้นเป็น”สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ”
ที่มาของสัญลักษณ์ สมาคมฯ นั้น เป็นการนำเอา “เรือสำเภาจีนและฟันเฟืองครึ่งซีก” มาผนวกเข้าด้วยกัน เนื่องจากเรือสำเภาจีนนั้น มีความสำคัญต่อการพาณิชย์ในระยะบุกเบิกของธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีเรือสำเภาจีนเข้ามาค้าขายกับไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และเรือยังเป็นสัญลักษณ์ของการพาณิชย์ต่าง ๆ แม้กระทั่งกระทรวงพาณิชย์ , คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ก็ใช้เรือเป็นสัญลักษณ์มาช้านานแล้ว
ส่วนฟันเฟืองนั้น ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของการอุตสาหกรรมจึงนำเอาสองอย่างนี้ ผสมเข้าด้วยกันเป็นต้นแบบ เขียนชื่อภาษาไทยและอังกฤษ ของสมาคมฯ ล้อมรอบ