การแก้ไข / เพิ่มเติมระเบียบข้อบังคับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ วัตถุประสงค์ เนื่องด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันได้มีสื่อต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้คณะกรรมการสมาคม ฯ มีความเห็นว่า ควรแก้ไข/เพิ่มเติมระเบียบข้อบังคับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเพื่อให้สมาชิกที่เป็นผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้รับสิทธิประโยชน์อย่างสูงสุด เนื่องจากปัจจุบันสมาคม ฯ มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิก ฯ เป็นจำนวนมาก เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าคลอดบุตร ทุนการศึกษา ค่าเรียนภาษาอังกฤษ กิจกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ร่างดังกล่าว ได้มีการมีแก้ไขตั้งแต่สมัย น.ส.จตุพร เอี่ยมสอาด หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เป็นนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และคณะกรรมการฯ ชุดปัจจุบัน ได้นำมาแก้ไขอีกเล็กน้อย
สาระสำคัญในการแก้ไข / เพิ่มเติมระเบียบข้อบังคับที่น่าสนใจ
ข้อ 8 และข้อ 9 เป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์การสมัครเป็นสมาชิกสามัญ เพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจนว่า ผู้ที่จะเป็นสมาชิกของสมาคม ฯ ต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไร เช่น การสมัครสมาชิกสมาคม ฯ ครั้งแรก ให้ส่งใบสมัครภายในเดือนมกราคมของปีที่เปิดรับสมัครสมาชิก เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาด้านคุณสมบัติ หลังจากการพิจารณาแล้ว จะมีการแจ้งให้ผู้สมัครสมาชิกใหม่รับทราบว่า ผ่าน หรือไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขว่า ผู้สมัครสมาชิกใหม่ จะต้องแสดงตนต่อที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกใหม่ และสมาชิกเก่า ได้พบปะรู้จักกัน และเป็นการดูแลรักษาสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขส่วนที่ 2 เรื่องการสมัครสมาชิกองค์กร ตั้งแต่ข้อ 13 -17 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์สมาชิกองค์กร ควรเป็นอย่างไร เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย เพื่อความเป็นธรรมกับทุกองค์กร และรักษาสิทธิประโยชน์สมาชิกสมาคม ฯ จึงต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณา
ส่วนการแก้ไขข้อที่เหลือ เป็นการแก้ไข / เพิ่มเติมในข้อความต่าง ๆ ให้เกิดความชัดเจน และสอดคล้องกับปัจจุบัน เช่น วิธีการเลือกตั้ง วิธีการลงคะแนนเสียง
ระเบียบข้อบังคับ
ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ (แก้ไข/เพิ่มเติมใหม่)
หมวดที่ 1 : ความทั่วไป
ข้อ 1 สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” เรียกเป็นภาษาอังกฤษ “The Economic Reporters Association” มีชื่อย่อว่า “ส.ผศ.” หรือ “TERA”
ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคมเป็นรูปเรือใบกับฟันเฟืองครึ่งซีก วางซ้อนกันในเชิงวงกลม
ข้อ 3 สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่เลขที่ 3300/63 ตึกช้างทาวเวอร์ B ชั้น 9 ห้อง C ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
ข้อ 4 “สมาคม” หมายถึง สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
“สมาชิก” หมายถึง สมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
“คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
ข้อ 5 วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ
1) ส่งเสริม สนับสนุนและชี้แนะ ให้การประกอบอาชีพของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ มีจรรยาบรรณ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
2) ช่วยเหลือสมาชิกของสมาคม แก้ไขอุปสรรคข้อขัดแย้งต่าง ๆ ในการประกอบอาชีพและให้ความช่วยเหลือสวัสดิการแก่สมาชิก
3) เป็นสื่อกลางในการปะสานความร่วมมือกับรัฐบาล และองค์กรโดยชอบด้วยกฏหมายของเอกชนสำหรับการแลกเปลี่ยน และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการหรือข่าวสารด้านเศรษฐกิจ
4) เป็นศูนย์กลางที่จะประสานความร่วมมือกับรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ
5) ส่งเสริมความสามัคคี ในมวลสมาชิกของสมาคม และการประนีประนอมข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิก
6) ไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการเมือง
หมวดที่ 2 : ส่วนที่ 1 สมาชิก
ข้อ 6 สมาชิกของสมาคม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1) สมาชิกกิตติมศักดิ์
2) สมาชิกสามัญ
ข้อ 7 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณวุฒิ และความสามารถอันอาจทำประโยชน์ให้แก่สมาคม หรือเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้ไว้แก่สมาคม และรับเป็นสมาชิกตามคำเชิญของคณะกรรมการแล้ว
ข้อ 8 สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในฐานะผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ดังนี้
(1) สมาชิกสามัญที่ประกอบวิชาชีพ ในฐานะผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ประเภท หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร มัลติมีเดีย หรืออื่นๆ ในองค์กรสื่อที่คณะกรรมการให้การรับรอง
(2) กรณีองค์กรสื่อตาม (1) มีผู้ร้องเรียนในภายหลังเกี่ยวกับคุณสมบัติ ให้คณะกรรมการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมการ อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาหาข้อยุติ และคำตัดสินถือเป็นเด็ดขาด
(3) ผู้มีสิทธิ์ร้องเรียนตาม (2) ได้แก่ สมาชิกสามัญไม่ต่ำกว่า 5 คนร่วมกันลงลายมือชื่อเพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ
ข้อ 9 ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญต้องยื่นใบสมัครต่อนายทะเบียน ตามระเบียบข้อบังคับกำหนด โดยต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในองค์กรสื่อที่สมาคมรับรองอย่างน้อย 1 ปี และให้มีหัวหน้างาน 1 คน และสมาชิกสามัญ 2 สองคน ลงลายมือชื่อรับรอง และเมื่อนายทะเบียนได้รับใบสมัครแล้วให้ตรวจสอบคุณสมบัติ และความถูกต้องก่อนเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาในการประชุมคราวถัดไปหากนายทะเบียนเห็นว่าไม่สมควรรับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกให้แจ้งให้ผู้นั้นทราบ และให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อนายกสมาคมภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคำปฏิเสธ และให้นายกสมาคมนำเรื่องเข้าหารือในการประชุมคณะ กรรมการบริหารในคราวถัดไปมติในการรับสมาชิกจะต้องเป็นเอกฉันท์ เมื่อคณะกรรมการบริหารมีมติรับผู้ใดเป็นสมาชิกแล้ว ให้ผู้นั้นไปแสดงตัวต่อที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
ข้อ 10 ผู้สมัครได้รับการจดทะเบียนและมีสิทธิ์เป็นสมาชิกนับตั้งแต่
1) ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ และมีคุณสมบัติตามข้อบังคับ
2) ชำระค่าลงทะเบียนแรกเข้า และค่าบำรุงรายปีถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบข้อบังคับ โดยอัตราค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงรายปี ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
ข้อ 11 ผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคมแล้ว ถ้าสมาชิกผู้นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายสังกัดเดิมในภายหลัง ให้สมาชิกผู้นั้นแจ้งการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายสังกัดองค์กรสื่อที่เป็นสมาชิกให้คณะกรรมการทราบ เพื่อคณะกรรมการจะได้บันทึกการเปลี่ยนแปลงหรือโยกย้ายนั้น ๆ ภายใน 30 วัน โดยไม่ต้องสมัครสมาชิกใหม่ หากพ้นกำหนด 30 วัน จะต้องสมัครสมาชิกใหม่ในปีถัดไป
ข้อ 12 สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ และสมาชิกสามัญ สิ้นสุดลงเมื่อ
1) ตาย
2) ลาออก
3) เลิกประกอบอาชีพ
4) ต้องคำพิพากษาจนถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่กำหนดโทษชั้นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
5) ค้างชำระค่าบำรุง หรือหนี้สินอื่นแก่สมาคม
6) คณะกรรมการลงมติให้ขาดจากสมาชิกภาพ โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ เพราะเหตุใด ๆ ดังนี้
ก) มีความประพฤติในทางอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สมาคม
ข) ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสมาคม ข้อบังคับหรือสั่งอันชอบของคณะกรรมการ
ส่วนที่ 2 สมาชิกองค์กร
ข้อ 13 องค์กรสื่อที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการก่อนข้อบังคับนี้มีผลข้อบังคับ ให้ถือเป็นสมาชิกประเภท “สมาชิกองค์กร” โดยสมบูรณ์
ข้อ 14 องค์กรสื่อที่มีความประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกใหม่ของสมาคม จะต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกประเภทสมาชิกองค์กรสื่อที่มีอยู่เดิม อย่างน้อย 3 องค์กร โดยมีบรรณาธิการ หรือหัวหน้างานด้านเศรษฐกิจเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรอง และส่งสื่อที่ผลิตมาให้คณะกรรมการพิจารณา
ข้อ 15 ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกประเภท “สมาชิกองค์กร” ต้องยื่นใบสมัครต่อนายทะเบียน ตามระเบียบสมาคมกำหนด โดยนายทะเบียนจะพิจารณาคุณสมบัติว่าถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับหรือไม่ หากคุณสมบัติถูกต้อง ให้ปิดประกาศรายชื่อไว้ที่สมาคม และเวบไซต์ของสมาคม มีกำหนด 30 วัน ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านให้นายทะเบียนเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
ข้อ 16 ผู้สมัครสมาชิกประเภท “สมาชิกองค์กร” ได้รับการจดทะเบียนและมีสิทธิ์เป็นสมาชิกนับตั้งแต่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ และมีคุณสมบัติตามระเบียบข้อบังคับ
ข้อ 17 ผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาชิกประเภท “สมาชิกองค์กร” ของสมาคมแล้ว ถ้า “สมาชิกองค์กร” นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือปิดกิจการลง ให้ถือว่า “สมาชิกองค์กร” นั้นสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกประเภท “สมาชิกองค์กร” ของสมาคมโดยปริยาย
ส่วนที่ 3 สิทธิและหน้าที่
ข้อ 18 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
1.) มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
2.) มีสิทธิเสนอความเห็นเกี่ยวกับการแบ่งงานของสมาคม
3.) มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมจัดขึ้น
4.) สมาชิกสามัญ มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกละ 1 เสียง
5.) ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
6.) ต้องรักษาจรรยาบรรณตามกรอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และจะต้องไม่เป็นผู้มีความประพฤติที่นำความเสื่อมเสียหรือเสียหายให้แก่สมาคม
ข้อ 19 การชำระค่าบำรุงประจำปี กำหนดชำระปีละ 1 ครั้ง
1) สมาชิกเก่า ให้ต่ออายุโดยการชำระค่าบำรุงประจำปีในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือภายใน 30 วันหลังจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปีเสร็จสิ้นลง
2) สมาชิกใหม่ ให้ชำระค่าบำรุงประจำปีภายหลังจากได้รับการอนุมัติรับเข้าเป็นสมาชิกสามัญโดยมติคณะกรรมการ ภายใน 30 วัน
3) การจัดทำบัตรสมาชิก
ก) สมาชิกใหม่ทุกคนที่สมัครเป็นสมาชิก ปีที่ 1 ทางสมาคมฯ จะให้ใช้ “บัตรอ่อน” ติดรูป เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหลักเกณฑ์ และ การดูแลสวัสดิการ ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับสมาชิกจะได้รับสวัสดิการก็ต่อเมื่อเป็นสมาชิกครบ 1 ปี เมื่อมีสมาชิกภาพขึ้นปีที่ 2 จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ของสมาคม
ข)สมาชิกเก่า กำหนดให้ใช้ “บัตรแข็ง” ติดรูป ทั้งนี้ “บัตรสมาชิก” 2 ประเภท จะกำหนดวันหมดอายุไว้อย่างชัดเจนทุกปี
หมวดที่ 3 : คณะกรรมการและการดำเนินงาน
ข้อ 20 คณะกรรมการ ต้องได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ
ข้อ 21 คณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ 1 ปี และจะได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระมิได้
ให้มีคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมมีจำนวนอย่างน้อย 7 คน แต่ไม่เกิน 11 คน โดยมีตำแหน่งดังต่อไปนี้
1) นายก
2) อุปนายก
3) เลขาธิการ
4) เหรัญญิก
5) นายทะเบียน
6) ประชาสัมพันธ์
7) กรรมการวิชาการ
ข้อ 22 กรรมการสิ้นสุดลงเมื่อ
1) ขาดสมาชิกภาพ
2) ตาย
3) ลาออก
4) ออกตามวาระ
5) ที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกตามทะเบียนลงมติไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล
ข้อ 23 กรณีนายกสมาคมลาออกหรือพ้นตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้คณะกรรมการในที่ประชุม คัดเลือก “รักษาการนายกสมาคม” ขึ้นมาทำหน้าที่แทนจนกว่าจะครบวาระที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการชุดนั้น
ข้อ 24 คณะกรรมการ พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อ
1) วาระการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง
2) กรรมการลาออกเกินกึ่งหนึ่ง
3) ที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกตามทะเบียนลงมติไม่ไว้วางใจ
ข้อ 25 คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามผลข้อ 24 (2) และข้อ 24 (3) ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ภายใน 30 วัน
ข้อ 26 ในช่วงระหว่างจัดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการ ทำหน้าที่ “รักษาการ” บริหารงานของสมาคมต่อไปจนกว่าจะได้ส่งมอบหน้าที่การบริหารให้แก่คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งใหม่
ข้อ 27 คณะกรรมการเป็นตัวแทนของสมาคมในกิจกรรมอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
ข้อ 28 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินงานของสมาคมตามวัตถุประสงค์แห่งระเบียบนี้ และมีอำนาจวางข้อบังคับการดำเนินงานของสมาคมได้
ข้อ 29 คณะกรรมการมีหน้าที่รับพิจารณาเรื่องราวข้อเสนอใด ๆ อันเป็นกิจการโดยชอบตามวัตถุประสงค์ของสมาคมนี้
ข้อ 30 คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งสมาชิกหรือผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นเป็นอนุกรรมการก็ได้ ทั้งให้มีอำนาจถอดถอน กำหนดหน้าที่ วางระเบียบดำเนินงานของอนุกรรมการ
ข้อ 31 คณะกรรมการมีสิทธิที่จะเชิญบุคคลที่เห็นสมควรเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และมีอำนาจที่จะว่าจ้างเจ้าหน้าที่ตามความจำเป็น เพื่อช่วยเหลือกิจการของสมาคม
ข้อ 32 การประชุมคณะกรรมการเป็นสิทธิเฉพาะตัวจะมอบให้ผู้ใดแทนมิได้ ในการประชุมจะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 33 ให้นายกสมาคม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ถ้านายกหรืออุปนายกไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ในที่ประชุมเลือกกรรมการที่เข้าร่วมประชุมเป็นประธานการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ 4 : การเลือกตั้ง
ข้อ 34 วิธีการเลือกตั้ง
1) ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมต้องได้รับการเสนอชื่อจากสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมใหญ่ และต้องเป็นสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมใหญ่ในวันเลือกตั้งนั้นด้วย โดยมีสมาชิกอื่นรับรองไม่น้อยกว่า 10 เสียง
2) ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมเป็นผู้เสนอรายชื่อต่อที่ประชุมใหญ่ โดยผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการจะต้องมีรายชื่อไม่น้อยกว่า 6 คน และไม่เกิน 10 คน
3) กรณีที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมมากกว่า 1 คน ให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมเป็นผู้เสนอรายชื่อกรรมการต่อที่ประชุมตาม 2) และให้แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมใหญ่
ข้อ 35 วิธีการลงคะแนนเสียง
1) ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกสามัญ โดยต้องอยู่ในที่ประชุมใหญ่และลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยตนเอง
2) การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการ กรณีที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการเพียงคณะเดียว ให้ลงคะแนนเสียงด้วยวิธียกมือรับรองจากสมาชิกสามัญในที่ประชุมใหญ่
3) การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการ กรณีที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการมากกว่า 1 คณะ ให้ลงคะแนนด้วยวิธีหย่อนบัตรเลือกตั้ง
ข้อ 36 คณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญในที่ประชุมใหญ่ ให้มีผลโดยสมบูรณ์ในการเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารสมาคม และให้นายกสมาคมแถลงนโยบายต่อที่ประชุมใหญ่
หมวดที่ 5 : การประชุม
ข้อ 37 การประชุมของสมาคมมี 2 ประเภท
1) การประชุมใหญ่สามัญประจำปี
2) การประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 38 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี
1) ให้จัดประชุมใหญ่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อรายงานผลดำเนินงานของคณะกรรมการ ตลอดจนการชี้แจงรายงานงบดุลประจำปี
2) จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ แทนคณะกรรมการชุดเดิมที่หมดวาระลง
ข้อ 39 การประชุมใหญ่วิสามัญ
1) การประชุมซึ่งคณะกรรมการเรียกประชุม
2) การประชุมโดยสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ร้องขอต่อคณะกรรมการให้เรียกประชุม
ข้อ 40 การประชุมใหญ่ทุกครั้งต้องมีสมาชิกสามัญในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อ 41 ในการประชุมใหญ่ ให้นายกสมาคม หรือบุคคลที่คณะกรรมการเห็นสมควรทำหน้าที่ประธานที่ประชุม
ข้อ 42 มติในที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์การออกเสียงลงคะแนนนั้น มิให้ผู้เป็นประธานที่ประชุมออกเสียงลงคะแนนด้วย เว้นแต่คะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมชี้ขาด
ข้อ 43 กิจการอันพึงกระทำในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ดังนี้
1) รับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของปีที่ผ่านมา
2) เสนอรายงานผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
3) รายงานสถานะการเงิน และงบดุลของปีที่ผ่านมา
4) แต่งตั้งผู้สอบบัญชี
5) เลือกตั้งกรรมการตามวาระ
6) เรื่องอื่นๆ
หมวดที่ 6 : การเงิน
ข้อ 44 เงินรายได้ของสมาคมต้องเก็บรักษาไว้ในธนาคาร โดยใช้ชื่อบัญชีว่า “สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” หรือ ลงทุนในตราสารการเงินหรือตราสารหนี้ของรัฐ
ข้อ 45 การเบิกเงินและจ่ายเงินของสมาคมจะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม เลขาธิการ และเหรัญญิกเท่านั้น โดยลงลายมือชื่อ 2 ใน 3 คน เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดไว้ได้ไม่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) และมีอำนาจสั่งจ่ายได้ไม่เกินคราวละ 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายได้ไม่เกินคราวละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) การจ่ายนอกเหนือจากนี้ให้เป็นไปตามมติที่ประชุมกรรมการบริหาร
ข้อ 46 ผู้สอบบัญชีมาจากการแต่งตั้งในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี และให้ผู้สอบบัญชีอยู่ในตำแหน่งคราวละ 1 ปี
ข้อ 47 ให้ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินของสมาคม และให้สิทธิสอบถามกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุก ๆ คน ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารเหล่านั้น
ข้อ 48 รอบปีบัญชีของสมาคม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงสิ้นปี 31 ธันวาคม
ข้อ 49 ให้คณะกรรมการจัดทำงบดุลปีละหนึ่งครั้ง ส่งมอบให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ภายในเดือนมกราคมปีถัดไป และให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ตรวจให้แล้วเสร็จ ก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี
ข้อ 50 การบริหารงบดุลประจำปี ให้คณะกรรมการบริหารจัดการอย่างน้อยที่สุดให้เป็นรูปแบบงบประมาณสมดุล
ข้อ 51 ให้คณะกรรมการส่งสำเนางบดุลที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วไปยังสมาชิกทุกคน พร้อมกับหนังสือบอกกล่าวการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
หมวดที่ 7 : การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ 52 การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับนี้ เสนอโดยคณะกรรมการหรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ลงลายมือชื่อขอให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ 53 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ จะมีผลบังคับใช้หลังจากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ และได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
หมวดที่ 8 : การเลิกสมาคม
ข้อ 54 การเลิกสมาคม กระทำได้โดยมติเอกฉันท์ในที่ประชุมใหญ่
ข้อ 55 การเลิกสมาคมเมื่อมีผลโดยสมบูรณ์ สินทรัพย์ที่เหลืออยู่หลังจากการชำระบัญชีแล้ว ให้โอนเป็นของนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับกิจการสาธารณกุศลและกิจการสาธารณประโยชน์ตามมติของที่ประชุมใหญ่
***********************