เรื่องโดย…….นิธิดา อัศวนิพนธ์
ต่างจังหวะ…หลากลีลา… คอนซูเมอร์โปรดักต์… ยุคลูกค้าไม่ค่อยกล้าควักกระเป๋า
และแล้วการเมืองไทยก็ตื่นตูมตามอีกครั้งหลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเขย่าบรรยากาศทางการเมืองด้วยการออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และบุตร ที่ฝากอยู่กับทุกธนาคารและทุกสถาบันการเงินรวมเป็นเงินถึง 52,884 ล้านบาท ในวันที่ 11 มิถุนายน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและเทศที่ทำท่าว่าจะดีขึ้นหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดชะตาพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมก็มีอันต้องสั่นคลอนอีกครั้ง ส่วนผู้บริโภคนั้น ความเชื่อมั่นที่ดิ่งลงอยู่แล้วตั้งแต่ต้นปีก็ปักหัวลงแรงเข้าไปอีก ล่าสุดสภาหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคว่าได้ลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบห้าปีสี่เดือนไปอยู่ที่ 76.4 จุดแล้ว ซึ่งนี่ถือเป็นข่าวร้ายอย่างจังสำหรับนักธุรกิจทั้งหลายทั้งที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคและของหรู
เหตุการณ์ความไม่สงบที่เริ่มมีอยู่บ้างแล้วนำโดยแกนนำม็อบพีทีวีผสมโรงกับแนวร่วม 33 องค์กรต่อต้านรัฐประหารจัดตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ขึ้นเวทีขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยรวมกับกลุ่มไทยรักไทยซึ่งประกอบด้วยอดีต ส.ส. 60 คนในสังกัดไทยรักไทย ระดมพลคนที่ร่วมอุดมการณ์เฉียดแสนคนชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และมีการเคลื่อนพลไปที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกเพื่อกดดันถึงที่ รวมทั้งประกาศกร้าวยื่นคำขาดให้คมช. ลาออกภายในเจ็ดวันภายใน 24 มิถุนายน ทั้งนี้ มีการแจกใบปลิว ขับไล่ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และประธาน คมช.และผู้บัญชาการทหารบก พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในการชุมนุมนั้น หัวข้อหลักที่ว่าก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ขับไล่ คมช.ด้วย แต่ยังรวมถึงประท้วงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และเอาคุณทักษิณกลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง
แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สร้างความหวั่นไหวให้กับหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนและนักลงทุนคือความเป็นไปได้ที่คุณทักษิณจะกลับไทยเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก นอมินี การปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัท เอสซี แอสเสท การซื้อที่ดินรัชดากับทั้ง คตส.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าการกลับมาของคุณทักษิณอาจส่งให้ความขัดแย้งของประชาชนยิ่งบานปลายจนถึงขั้นควบคุมไม่ได้ถึงแม้ว่าคุณทักษิณประกาศจะวางมือทางเมืองแล้วก็ตาม เห็นได้จากแค่วันที่ นปก.ประกาศว่าคุณทักษิณจะร่วมพูดคุยระหว่างชุมนุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ รัฐบาลก็เตรียมตั้งรับอย่างดี ดูแล้วดูอีกว่าจะยอมให้เปิดวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ได้ ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเพียงการเปิดวีซีดีที่คุณทักษินอัดไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น
ย้อนไปเมื่อวันที่มีการตัดสินอนาคตทางการเมืองของนักการเมืองทั้งหลาย ซึ่งเป็นวันที่มีทั้งบรรยากาศสุขสุดๆ และโศกสุดๆ จากผู้ที่รอดตายและคนที่ตายสนิท 111 คน (อย่างน้อยก็ในช่วงห้าปีนี้) ภาคเอกชนทั้งหลายต่างรู้สึกโล่งไปเปลาะหนึ่ง เพราะอย่างน้อยภาพการเมืองที่อึมครึมมาแรมปีก็ชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว เหลือแค่ต้องลุ้นต่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้รับการลงมติหรือไม่เท่านั้น ซึ่งถ้าผ่านความหวังที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้งก็จะฉลุย
ณ ตอนนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ยังออกผลสำรวจตามมาติดๆ ว่าความเชื่อมั่นของภาคเอกชนดีขึ้นและเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกด้วยซ้ำ โดยในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจขยายตัว 3 ถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ และส่วนในครึ่งปีหลังนั้นคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 4 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ 3.5 ถึง 4.5 เปอร์เซ็นต์
ความไม่นิ่งของการเมืองส่งผลอย่างจังต่อหลายบริษัทไม่เว้นแม้แต่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่อย่างเครือสหพัฒน์ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์บอกเลยว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้เลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี รายได้ของบริษัทเองก็คาดว่าจะตกต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี ด้วยตัวเลขอัตราเติบโตติดลบ 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังบอกว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้วิกฤตมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 เพราะครั้งนี้ผลกระทบไม่ได้อยู่แค่ในวงธุรกิจขนาดใหญ่เหมือนอย่างปี 2540 แต่ลงไปถึงรากหญ้าเลย
ด้านยักษ์ใหญ่อีกเจ้าอย่างโอสถสภาก็เจอผลกระทบเช่นกัน รายได้สินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาเติบโตต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังยืนยันที่จะทำไปให้ถึงเป้ารายได้เติบโต 10 เปอร์เซ็นต์ในสิ้นปี ซึ่งบริษัทต้องอัดโปรโมชั่น แคมเปญการตลาดต่างๆ มีลดแลกแจกแถมครบ และต้องเร่งแผนการตลาดที่วางไว้ให้เร็วขึ้น ใช้งบฯเร็วขึ้นกว่าเดิม
ในสายตาของ วิเชียร สันติมหกุลเลิศ ผู้อำนวยการการตลาดของโอสถสภา สินค้าอุปโภคบริโภคในปีนี้ดูไม่สดใสเลย สินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันจริงๆ จะโตน้อย ในขณะที่สินค้าที่ไม่จำเป็นก็จะไม่โตเลย เพราะคนหันไปซื้อของถูกลงหรือลดปริมาณการใช้ เขายกตัวอย่างผ้าอ้อมที่ถ้าเด็กโตขึ้นมาพอสมควรแล้ว พ่อแม่ก็อาจอยากประหยัดเงินโดยให้ใช้ผ้าอ้อมเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น เพราะตอนกลางวันพ่อแม่สามารถอยู่ทำความสะอาดให้ลูกได้
ห้างยักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ก็โดนไม่น้อย ยุวดี พิจารณ์จิตร ถึงกับออกมาบอกว่าปีนี้ถือเป็นหนึ่งในปีที่แย่ที่สุดที่เซ็นทรัลเจอ ผู้บริโภคเดินห้างน้อยลงและมีความลังเลในการตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งผู้บริหารก็ทำใจแล้วว่ายอดรายได้สิ้นปีนี้คงไม่เติบโตจากปีที่แล้ว จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ห้างจึงพยายามสร้างบรรยากาศโดยประกาศทุ่มเงินถึง 1.5 พันล้านบาทกระตุ้นยอดขายในช่วงหกเดือนที่เหลือ ซึ่งมากกว่า งบการตลาดในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เซ็นทรัลวางแผนจะใช้โอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี อัดกิจกรรม ทางการตลาดมากมายรวมทั้งโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ด้วย
แต่ในทางกลับกัน หลายบริษัทก็ยังเห็นผลประกอบการดีอยู่ เช่น ไบเออร์สดอร์ฟ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าดูแลผิวเช่นนีเวียและ ยูเซอรีนซึ่งยังเห็นการเติบโตอยู่ โดย ธนชัย ชัยกิตติวนิช ผู้จัดการ กลุ่มนีเวีย วิซาจ บอกว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ (20 มิถุนายน) รายได้บริษัทเติบโตไปแล้ว 28 เปอร์เซ็นต์ ยูนิลีเวอร์ก็บอกว่าเป้าเติบโตยังคงอยู่ ด้านลอริอัลบอกว่ายอดขายเติบโตสูงสุดเป็นอันดับสองของลอริอัลในเอเชียด้วยอัตราเติบโต 13 เปอร์เซ็นต์ในครึ่งปีแรก และมั่นใจว่าทั้งปีจะเติบโตต่อ 21 เปอร์เซ็นต์
การทำธุรกิจ ณ นาทีนี้ นอกจากต้องจับตาดูความ เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เพิ่มความถี่ในการทบทวน แผนการตลาดจากครึ่งปีหรือสามเดือนต่อหนึ่งครั้งเป็นทุกเดือนหรือทุกสัปดาห์แล้ว สิ่งสำคัญคือ ชื่อเสียงของตราสินค้า ฐาน ลูกค้าที่แข็งแกร่ง ความคุ้มค่าของราคา ความสามารถในการโน้มน้าวผู้บริโภคให้ยัง คงซื้อสินค้าของเรา หลายบริษัทใช้ โอกาสนี้มัดใจผู้บริโภค โดยเปิดตัวสินค้า ที่มี นวัตกรรมออกมาเรื่อยๆ ดังเช่นที่ ธนชัยจากไบเออร์สดอร์ฟบอกเพื่อแสดง ให้ ผู้บริโภคเห็นถึงความทุ่มเทที่มีอยู่ตลอด ถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ดี ขณะเดียวกัน นักการ ตลาดต้องศึกษาผู้บริโภคในเชิงลึกยิ่งขึ้น เพื่อคอยจับทิศทางความต้องการผู้บริโภคให้ ถูกต้อง รวมทั้งต้องสื่อสารกับผู้บริโภคให้มากขึ้นด้วย
หากถามถึงความเชื่อมั่นของนักธุรกิจตอนนี้ แทบทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันหมดคือทุกอย่างอยู่ที่ภาวะการเมือง หลายคนยังพยายามมองในแง่บวกว่ารัฐบาล จะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งต่างๆ ได้ สิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดคือความ สามารถของรัฐบาลในการควบคุมสถาน การณ์เพื่อไม่ให้บานปลายรุนแรง บางส่วน ยังขอให้รัฐบาลมีความเป็นกลางที่สุด โดยให้สิทธินักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทาง การเมืองได้รับสิทธิเลือกตั้งครั้งต่อไป ได้เพียงแต่ต้องเปลี่ยนชื่อ และเรียกร้องให้ รัฐบาลรีบแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุด
ถึงตอนนี้ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะไปถึงขั้นไหน และรัฐบาลก็ยังคงต้องคอยตามแก้อยู่ นายกฯก็ได้ออกมาให้สัญญาแล้วว่าจะเร่งการลงมติร่างรัฐธรรมนูญจากเดิมเดือนกันยายนเป็น 19 สิงหาคม และเร่งการเลือกตั้งจากเดิมที่คาดไว้ปลายเดือนธันวาคมเป็น 25 พฤศจิกายน แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะสัญญาว่าอะไร สิ่งที่นักธุรกิจต้องการก็คือขอให้มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง เพราะถ้าทุกอย่างเดินไปตามเวลาที่คาดการณ์ไว้ ประเทศไทยก็ยังต้องใช้เวลาถึงกลางปีหน้ากว่าทุกอย่างจะเข้าที่และเริ่มฟื้น แล้วลองคิดดูว่าถ้าสภาวะการเมืองยังวุ่นวายและสภาวะการเมืองหยุดนิ่งอยู่อย่างนี้ เศรษฐกิจไทยจะต้องรออีกนานแค่ไหนถึงจะฟื้น ถึงตอนนี้ รัฐบาลคือความหวังเดียวของอนาคตเศรษฐกิจไทย…