Home ข่าวประชาสัมพันธ์ รพ.เวชธานี เตือน คนไทยเสี่ยงเป็นเบาหวานความดัน และไขมัน ตั้งแต่อายุ เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

รพ.เวชธานี เตือน คนไทยเสี่ยงเป็นเบาหวานความดัน และไขมัน ตั้งแต่อายุ เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

by admin
371 views

รพ.เวชธานี เตือน คนไทยเสี่ยงเป็นเบาหวานความดัน และไขมัน ตั้งแต่อายุ เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

ในงานเปิดโครงการ Econmass Fit Hero ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เครือข่ายคนไทยไร้พุง และโรงพยาบาลเวชธานี เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้แก่สมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความเข้าใจสาเหตุของการเกิดโรคร้าย เช่น เบาหวาน ความดัน อันนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตวาย
แพทย์หญิงทรายด้า บูรณสิน อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และไขมัน ตั้งแต่อายุยังน้อยถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ทำให้มีเสี่ยงเป็นโรคต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน พบได้ในทุกช่วงวัย แต่จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่พบได้บ่อย คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือการที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ซึ่งมีทั้งแบบเรื้อรังและเฉียบพลัน หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “หัวใจวาย” เป็นภาวะที่ทำให้เสี่ยงเสียชีวิตแบบกะทันหัน

แพทย์หญิงทรายด้า ยังระบุว่า อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยขณะออกแรง เพลีย นอนราบไม่ได้ เจ็บหน้าอก ทั้งแบบทันทีทันใดหรือเจ็บแบบเป็น ๆ หาย ๆ จุกเสียดลิ้นปี่ หายใจไม่ค่อยออก แน่นหน้าอกคล้ายมีของหนักทับ อาจร้าวไปที่คอ หัวไหล่หรือแขนด้านซ้าย ซึ่งจะมีอาการประมาณ 20 – 30 นาที นั่งพักแล้วอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ในรายที่รุนแรงหรือเป็นแบบเฉียบพลัน อาจหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น มักเกิดในผู้ชายที่อายุมากกว่า 45 ปี ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี หรือวัยหมดประจำเดือน รวมถึงกลุ่มที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกายทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เผาผลาญพลังงานได้น้อย เกิดไขมันสะสม มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ตลอดจนผู้ป่วยโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

“ผู้ป่วยเบาหวานเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากเป็นอันดับ 1 เพราะระดับน้ำตาลสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงผิดปกติและเสื่อมสภาพเร็ว ส่วนความดันโลหิตสูงจะทำให้หัวใจทำงานหนัก ผนังหัวใจหนาตัว หัวใจโต หลอดเลือดหัวใจหนาและแข็งตัว จนทำให้หัวใจขาดเลือดและหัวใจวาย ไม่ต่างจากไขมันในเลือดสูงที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหัวใจวายในที่สุด ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้ หากเป็นตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้น” แพทย์หญิงทรายด้ากล่าว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พบผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง จนนำมาสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้นและพบในกลุ่มคนอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะอาหาร ประเภทไขมันทรานส์ เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหาร Fast Food เบเกอรี่ ครีมเทียม เนยเทียม มาการีน รวมถึงอาหารทอดต่าง ๆ โดยไขมันทรานส์จะไปเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) และลดระดับไขมันดี (HDL) ทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมเร็วกว่าปกติ จึงส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมา หากบริโภคในปริมาณที่เกินพอดีหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคได้ไม่เกินวันละ 2.2 กรัม หรือ 0.5 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค
ดังนั้น หากสังเกตตัวเองแล้วพบว่ ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเจ็บจุกเหมือนมีอะไรกดทับที่หน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจไม่สุด เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หมดสติหรืออาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น อาจบ่งชี้ได้ว่าหลอดเลือดหัวใจมีภาวะตีบมากกว่า ร้อยละ 50 ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ประกอบด้วย 1. การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography) ด้วยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจหาภาวะตีบ ตัน หรือรั่ว 2. การสวนหัวใจหรือฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูทางเดินหลอดเลือดหัวใจ และดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของลิ้นหัวใจ หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง แพทย์จะพิจาณารักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจเพื่อใส่ขดลวดค้ำยัน เพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตกะทันหันได้

ทั้งนี้ แพทย์หญิงทรายด้ายังแนะนำการดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่เพิ่มไขมันดีและลดไขมันเลว รวมถึงไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ซึ่งเป็นไขมันที่เกิดจากน้ำตาล แป้ง หรืออาหารที่ทำให้อิ่มท้องได้นาน เพราะถ้ามีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงก็จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและลดไขมันในเลือด พักผ่อนให้เพียง นอนให้ได้คุณภาพและหลีกเลี่ยงภาวะเครียด