ลับคมความคิด ครั้งที่ 17
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เชิญสมาชิกสมาคมฯร่วมส่งบทความข่าวเข้าประกวดในโครงการประกวดบทความข่าวเชิงวิเคราะห์ชิงรางวัล “รางวัลบทความป๋วย อึ๊งภากรณ์” พร้อมเงินรางวัลและโล่เกียรติคุณ กำหนดส่งผลงานเข้าประกวดได้ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน – วันที่ 28 ธันวาคม 2566
ผลงานที่ส่งสามารถเป็นผลงานที่เขียนขึ้นใหม่ หรือเป็นผลงานที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในช่วงเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ถึง 28 ธันวาคม 2566
(ร่าง) โครงการประกวดบทความข่าวเชิงวิเคราะห์
“รางวัลบทความป๋วย อึ๊งภากรณ์”
หลักการและเหตุผล
โครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้คนในวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นข่าวเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาข่าวเศรษฐกิจยังได้รับความสนใจจากสังคมในวงจำกัด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจของผู้คนที่มองว่าข่าวเศรษฐกิจเป็นเรื่องไกลตัว อีกประการหนึ่งมากจากการนำเสนอข่าวสารทางด้านเศรษฐกิจยังไม่เป็นที่น่าสนใจพอที่จะให้คนทั่วไปหันมาอ่านข่าวเศรษฐกิจ
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จึงมีแนวคิดที่จะจัดโครงการประกวด “บทความข่าวเชิงวิเคราะห์” ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะในการนำเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจ เพื่อคนในสังคมส่วนใหญ่ได้หันมาให้ความสนใจกับข่าวเศรษฐกิจมากขึ้น โดยบทความที่ได้จากโครงการนี้จะได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งในส่วนที่ดำเนินการโดยสมาคมฯ และสื่อต้นสังกัดของสมาชิก ซึ่งจะทำให้สังคมได้รับรู้เกี่ยวกับข่าวเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
รายละเอียดโครงการ
ความหมายของ “บทความข่าวเชิงวิเคราะห์” คือ บทความที่มีรายละเอียดข้อมูลรองรับหรือสนับสนุนการวิเคราะห์ประเด็นหลักอย่างรอบด้าน และข้อมูลเหล่านั้นต้องมีแหล่งที่มาชัดเจน
1. ลักษณะประเด็นบทความ
ทั้งนี้โครงการฯ เปิดกว้างในประเด็นหลักของบทความที่ส่งเข้าประกวด โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นประเด็นข่าวเศรษฐกิจเท่านั้น เพื่อให้สอดรับกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมฯ ที่ระบุไว้ว่าจะส่งเสริมวิชาชีพสื่อมวลชนสายข่าวเศรษฐกิจ
โครงการนี้เปิดกว้างให้สมาชิกทุกสายข่าวได้ส่งผลงานเข้าประกวด เพราะปัจจุบันข่าวเศรษฐกิจทุกสายข่าวมีความเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น บทความที่ส่งเข้าประกวด ต้องวิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นหลักได้อย่าง รอบด้านและตรงประเด็นที่สุด รวมทั้งเป็นประเด็นที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมสูงสุด
2. คุณสมบัติผู้ส่งบทความเข้าประกวด
2.1 เฉพาะสมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
2.2 ส่งบทความในนามบุคคล หรือในนามกลุ่มไม่เกิน 3 คน
หมายเหตุ : สามารถเลือกส่งบทความได้เพียงประเภทเดียว
หลักเกณฑ์การตัดสิน
1. บทความที่วิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นหลัก (หัวข้อบทความ) ได้อย่างรอบด้านและตรงประเด็นที่สุด
2. เป็นบทความที่สร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม
3. เนื้อหาง่ายต่อการทำความเข้าใจ
4. คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
5. คณะกรรมการตัดสินจะไม่ทราบว่าบทความเรื่องนั้นเป็นของใคร
เงื่อนไขการส่งประกวดชิ้นงาน
ทั้งนี้ เนื่องด้วยสมาชิกของสมาคมฯประกอบด้วยสื่อทุกสาขา โดยหลักๆ ประกอบด้วยสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซด์ ดังนั้นเพื่อเปิดกว้างให้สมาชิกในทุกสื่อได้แสดงความสามารถ จึงได้แบ่งเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การตัดสินตามความเหมาะสมของสื่อแต่ละประเภท ดังนี้
สื่อสิ่งพิมพ์ กำหนดว่าบทความที่ส่งเข้าประกวดต้องมี เนื้อหาความยาวไม่เกิน 5 หน้ากระดาษ A4 (ไม่รวมตาราง/ภาพประกอบ) ตัวพิมพ์ Angsana New ขนาด 16 ตัวอักษรปกติ ต้องประกอบไปด้วยเอกสารอ้างอิง แหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ประเด็นทั้งหมด
สื่อโทรทัศน์ เทปโทรทัศน์ความยาวเมื่อรวมกับโปรยผู้ประกาศก่อนเข้าสกู๊ปข่าวต้องไม่เกิน 5 นาทีและเอกสารคำบรรยายพร้อมเอกสารอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
สื่อวิทยุ ส่งเป็นเทปเสียงความยาวไม่เกิน 5 นาที และเอกสารคำบรรยาย พร้อมแหล่งที่มาของข้อมูล
สื่อเว็บไซต์ ส่งเป็นเอกสารความยาวไม่เกิน 5 หน้ากระดาษ A4 (ไม่รวมตาราง/ภาพประกอบ) ตัวพิมพ์ขนาด 16 ตัวอักษรปกติ และเอกสารอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล
ผลงานที่ส่งสามารถเป็นผลงานที่เขียนขึ้นใหม่ หรือเป็นผลงานที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในช่วงเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 ถึง 28 ธันวาคม 2566
ระยะเวลาโครงการ
โครงการนี้ กำหนดส่งผลงานเข้าประกวดอย่างเป็นทางการระหว่าง เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2566 โดยสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถส่งผลงานเข้าประกวด จากนั้นจะพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประกวดในเดือนมกราคม 2567 และจะมีพิธีมอบรางวัล ในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งสมาคมฯ จะนำผลงานที่ได้รางวัลยอดเยี่ยม หรือกรณีไม่มีรางวัลยอดเยี่ยมให้เอารางวัลที่ 1 ลงตีพิมพ์ในหนังสือรายงานประจำปี “ปูมข่าวเศรษฐกิจ”
รางวัล
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้รับเกียรติจากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ มอบรางวัลให้กับผู้ได้รับรางวัลในการประกวด โดยใช้ชื่อว่า “รางวัลบทความป๋วย อึ๊งภากรณ์” ถือเป็นรางวัลที่มีเกียรติและทรงคุณค่าให้กับผู้ได้รับรางวัล ในแต่ละประเภทสื่อ ทั้ง สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และ เว็บไซด์
รายละเอียดของรางวัลมีดังนี้
รางวัลยอดเยี่ยม เงินสด 3 หมื่นบาท พร้อมโล่เกียรติคุณ
รางวัลที่ 1 เงินสด 2 หมื่นบาท พร้อมโล่เกียรติคุณ
รางวัลที่ 2 เงินสด 1 หมื่นบาท พร้อมโล่เกียรติคุณ
รางวัลที่ 3 เงินสด 7 พันบาท พร้อมโล่เกียรติคุณ
รางวัลชมเชย เงินสด 5 พันบาท พร้อมโล่เกียรติคุณ
รายชื่อคณะกรรมการคัดเลือกการประกวดบทความ
1. ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
2. รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) (รอคอนเฟิร์ม)
3. ตัวแทน จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (รอคอนเฟิร์มชื่อ)
4. ตัวแทนจาก กสทช (รอคอนเฟิร์มชื่อ)
5. คุณซูม (รอคอนเฟิร์ม)
เงื่อนไขโครงการประกวดบทความเชิงวิเคราะห์
เนื้อหาประกอบด้วย
1. คำบรรยายแนวคิดในการจัดทำบทความที่ส่งเข้าประกวด
2. เหตุผลของบทความที่ส่งประกวดจะก่อประโยชน์ต่อสังคม
3. แหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้วิเคราะห์ทั้งหมด
สื่อสิ่งพิมพ์ และ เว็บไซด์
– บทความความยาวไม่เกิน 5 หน้ากระดาษ A4 (ไม่รวมตาราง-ภาพประกอบ) ตัวพิมพ์ Angsana New ขนาด 16 ตัวอักษรปกติ
– เอกสารคำบรรยายแนวคิดชิ้นงาน และแหล่งที่มาของข้อมูล
สื่อโทรทัศน์
– เทปโทรทัศน์ความยาวเมื่อรวมกับโปรยผู้ประกาศก่อนเข้าสกู๊ปข่าวต้องไม่เกิน 5 นาที
– เอกสารคำบรรยายแนวคิดชิ้นงานและแหล่งที่มาของข้อมูล
สื่อวิทยุ
– เทปเสียงความยาวไม่เกิน 5 นาที
– เอกสารคำบรรยายแนวคิดชิ้นงานและแหล่งที่มาของข้อมูล
ส่วนการตัดสินจะใช้หลักเกณฑ์การตัดสินทั้งสิ้น 5 หลักเกณฑ์ (100 คะแนน) ดังนี้
1.ประเด็นแหลมคม (20 คะแนน)
– What
– Why
2.ข้อเท็จจริงถูกต้อง (20 คะแนน)
– ข้อมูลดี
– มีองค์ความรู้
3.ตรรกะการนำเสนอ (Logic) (20 คะแนน)
4.การใช้ภาษาที่เหมาะสม (20 คะแนน)
– เข้าใจง่าย
– ชวนติดตาม (อ่าน)
– ความถูกต้องทางภาษา
5.ข้อคิดเห็น ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (20 คะแนน)
– Impact
– Practical
หมายเหตุ : สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0890328245 (ธันวา – ก่า)
ุ