Home ข่าวประชาสัมพันธ์ ปุก ปุก ปุก เสียงสากไม้ขนาดใหญ่ตำลงไปยังครกไม้ที่ข้างในบรรจุด้วยข้าวเหนียวนึ่งสุกตำพร้อมกับเม็ดงาจนข้าวและเม็ดงาเป็นเนื้อเดียวกัน

ปุก ปุก ปุก เสียงสากไม้ขนาดใหญ่ตำลงไปยังครกไม้ที่ข้างในบรรจุด้วยข้าวเหนียวนึ่งสุกตำพร้อมกับเม็ดงาจนข้าวและเม็ดงาเป็นเนื้อเดียวกัน

by admin
436 views

ปุก ปุก ปุก…เสียงสากไม้ขนาดใหญ่ตำลงไปยังครกไม้ที่ข้างในบรรจุด้วยข้าวเหนียวนึ่งสุกตำพร้อมกับเม็ดงาจนข้าวและเม็ดงาเป็นเนื้อเดียวกัน จนได้ขนมที่เรียกว่าข้าวปุก อันเป็นสัญลักษณ์ของประเพณี ‘กินวอ’ หรือเทศกาลปีใหม่ของชาวลาหู่

ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ที่บ้านหนองเขียว ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านหลายร้อยคนจะมาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 12 วัน 12 คืนติดต่อกัน เพื่อขอบคุณเทพเจ้าตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ พลันที่เสียงปี่ขลุ่ยแบบพื้นเมืองดังขึ้น ชาวบ้านชายหญิงแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศสีสันสดใส ก็มารวมตัวกันคึกคักที่ลานกว้างของหมู่บ้าน เพื่อเตรียมเต้นบวงสรวงเทพเจ้าที่เรียกว่า ‘เต้นจะคึ’

แต่ภายใต้รอยยิ้มและความชื่นมื่นนั้น หมู่บ้านแห่งนี้ประสบกับปัญหายาเสพติดและปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ มาเป็นระยะเวลานาน โดยบริเวณพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลาหู่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดง จากทั้งหมด 8 หมื่นหมู่บ้านในภาคเหนือ เนื่องจากที่นี่เป็นอีกเส้นทางขนส่งสินค้าหลักของขบวนการค้ายาเสพติด

ปัญหาซับซ้อนของชนกลุ่มน้อย

“95 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกร แต่ด้วยราคาผลผลิตที่ตกต่ำ สวนทางกับต้นทุนการเกษตรสูงขึ้น ทำให้รายได้ของพวกเขาเหล่านั้นไม่แน่นอน” มาริสา จิตรบรรพต เจ้าหน้าที่องค์การแพลนอินเทอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศประจำพื้นที่ ให้ข้อมูลกับ dtacblog

ด้วยเงื่อนไขที่จำกัดในการดำรงชีพ ทำให้ชาวลาหู่ในพื้นที่ง่ายต่อการถูกชักจูงเข้าสู่กระบวนการค้ายาเสพติดโดยในเฉพาะเพศชาย ส่วนเพศหญิงมักถูกล่อลวงเข้าสู่เส้นทางการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ ด้วยความเชื่อท้องถิ่นเรื่องประเพณี “ผิดผี” กล่าวคือ การที่ชายและหญิงได้เสียกันก่อนแต่งงาน โดยไม่ได้รับอนุญาติจากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ รวมถึงในกรณีล่วงละเมิดทางเพศ นั้นหลายครั้งทำให้เกิดการบังคับแต่งงาน (forced marriage) ขึ้น นำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์เมื่อยังไม่พร้อมและปัญหาทางสังคมอื่นๆ สืบเนื่องตามมา

“เมื่อพิจารณาภาพปัญหาทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีความสามารถในการทำกิน พึ่งพิงตัวเองได้ เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้เข้าไปมีบทบาทในการให้ความรู้ ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการให้แก่น้องๆ ในชุมชน เรามีการร่วมมือกับทีมดีแทคเน็ตทำกิน ในการให้ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ โดยปัจจุบันมีน้องๆ ในชุมชนหลายคนมีบทบาทเป็นแกนนำในการส่งต่อองค์ความรู้การเป็นผู้ประกอบการแก่คนในท้องที่เองด้วย” มาริสาอธิบาย

อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนชีวิต

“พวกเราชาวลาหู่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ไว้กินเองในครอบครัว เราประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เน้นปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง มันสำปะหลัง และพืชผักสวนครัว แต่ด้วยความผันผวนของราคาผลผลิต ทำให้พวกเรามีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้สูงมาก อย่างข้าวโพดต้นทุนค่าปุ๋ยปีละ 14,000 บาท แต่พอเข้าฤดูผลผลิต ข้าวโพดราคาตกต่ำเหลือเพียง 4 บาท จากปกติที่เคยได้อยู่ราว 9 บาทต่อกิโลกรัม กลายเป็นว่าไม่คืนทุน แถมยังเป็นหนี้อีก” กรรณิกา นาก่า กล่าว เธอคือชาวเขาเผ่าลาหู่วัย 27 ปี หนึ่งในตัวแทนกลุ่มเยาวชนบ้านหนองเขียว

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทางโครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชอะโวคาโด และแจกสายพันธุ์พื้นเมืองให้กับชาวเขาเพื่อปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ ทั้งนี้ อะโวคาโดส่วนใหญ่ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง โดยจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ โดยกรรณิกานั้นเพาะปลูกทั้งสิ้น 6 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พื้นเมือง ปีเตอร์สัน แฮช บัคคาเนียร์ บูธ 7 และบูธ 8

ก่อนหน้านี้ เมื่อถึงฤดูผลอะโวคาโด จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อผลผลิตถึงหมู่บ้าน โดยชาวบ้านนั้นไม่สามารถกำหนดหรือต่อรองราคาขายได้ เนื่องจากไม่มีตลาดเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ดี สถานการณ์นั้นเริ่มดีขึ้นเมื่อองค์การแพลนฯ และดีแทคเน็ตทำกิน เข้ามาสอนการเปิดเพจขายสินค้า และเทคนิคต่างๆ ในการทำตลาดออนไลน์ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

“เดิมทีพวกเราไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจหรือการเป็นผู้ประกอบการเลย และด้วยพื้นฐานความคิดเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เราไม่กล้าติดต่อกับสังคมภายนอก และค่อนข้างกลัวการติดต่อพูดคุยกับคนแปลกหน้านอกชนเผ่า ยิ่งพวกเรายังใช้ภาษากลางได้ไม่ดีนัก ยิ่งทำให้พวกเราประหม่า ไม่กล้าที่จะเริ่มทำ แต่พอได้พี่ๆ ใจดีมาช่วยตั้งต้นให้ จากนั้นเราก็ต่อยอดได้เอง” เธอกล่าว

เพิ่มยอดขายด้วยการตลาดออนไลน์

กรรณิกาอธิบายต่อว่า ภาพถ่ายที่สวยงามและการถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตชาวลาหู่ลงบนโซเชียลมีเดียนั้นสามารถช่วยสร้างยอดขายได้จริง โดยสมัยก่อนพวกเธอขายอะโวคาโดได้เพียงสัปดาห์ละ 20 กิโลกรัม แต่ภายหลังได้เข้ารับการอบรมกับโครงการดีแทคเน็ตทำกิน ในช่วงพีคนั้นเธอมียอดสั่งซื้อถึง 400-500 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ส่งผลให้งานล้นมือจนต้องเกณฑ์สมาชิกในบ้านและเพื่อนบ้านมาช่วยกันเก็บ ช่วยกันแพ็ค เพื่อส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทันตามกำหนด

ปัจจุบัน ผลผลิตจากอะโวคาโดทำรายได้ให้กับกรรณิกาถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้นมาจากพืชที่ปลูกอยู่ดั้งเดิม ขณะที่รายได้ทั้งปีของเธอนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จาก 40,000-50,000 บาทต่อปี เป็น 150,000 บาท จนสามารถปลดหนี้ที่เคยกู้มาปลูกข้าวโพดได้สำเร็จ

“เรารู้สึกภูมิใจมากๆ คนในชุมชนเองก็ภูมิใจที่คนเมืองรับรู้เรื่องราวและสนับสนุนสินค้าของพวกเราโดยตรง ขณะที่ลูกค้าก็ได้รับผลผลิตสดใหม่จากต้นส่งตรงถึงบ้าน ที่สำคัญ พอชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านดีขึ้น ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ก็ลดลงตามไปด้วย” กรรณิกาทิ้งท้าย

เกี่ยวกับดีแทค เน็ตทำกิน

“ดีแทค เน็ตทำกิน” มุ่งติดปีกความรู้การทำธุรกิจยุคดิจิทัล ปรับวิกฤตสู่โอกาส สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และเปลี่ยนผ่านโอกาสค้าขายจากตลาดสดสู่ตลาดออนไลน์ บนหลักคิดลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล สร้างสังคมออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงโอกาสเท่าเทียมกัน หรือ Digital Inclusion มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติข้อที่ 10 ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ

ติดตามเรื่องราวดีแทค เน็ตทำกิน ได้ที่เฟซบุ๊ก : https://web.facebook.com/dtacnetforliving\