บทความ ระเบิด 2 ลูกกระแทกต่อเศรษฐกิจไทย
โดย…สุพรรณี จิวจรัสรงค์
เมื่อเย็นของวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ด้วยวิธีดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น โดยกำหนดให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้จำนวน 30% ของเงินตราต่างประเทศ มาตรการดังกล่าว ในทางปฏิบัติไม่ต่างจากการเก็บภาษีเงินทุนระยะสั้น ซึ่งเคยเป็นมาตรการที่ประเทศแถบละตินอเมริกาและมาเลเซียได้เคยใช้มาก่อนหน้านี้ ทำให้ต่างชาติทยอยถอนการลงทุน ถือได้ว่าเป็นมาตรการทิ้งระเบิดลูกใหญ่จากทางการที่เข้าซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย
หลังธปท.ประกาศมาตรการดังกล่าวเพียง 1 วันทำการ ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงกราวรูดกว่า 108 จุด มูลค่าตลาดรวมในตลาดหุ้นไทยหายไปในพริบตากว่า 8แสนล้านบาท และ แม้กระทรวงการคลัง โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี จะออกมาแถลงผ่อนปรนมาตรการแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ตลาดหุ้นดีขึ้นนัก เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลังออกบทวิเคราะห์ทันที ระบุว่า ถือเป็นมาตรการที่กระทบน่าเชื่อถือในเศรษฐกิจประเทศ และควรเป็นมาตรการที่ใช้ในระยะสั้น เนื่องจากมาตรการนี้ขัดกับหลักการไหลเวียนของเงินทุนเสรี ทำให้นักลงทุนต่างประเทศขาดความมั่นใจในการลงทุนในประเทศที่มีการควบคุมเงินทุน
ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2549 ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐได้ปรับแข็งค่าขึ้นถึง 14% นับจากต้นปี 2549 เป็นการแข็งค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับค่าเงิน 11 ประเทศคู่ค้าหลัก ธปท.เกรงว่าจะกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่ มาตรการต่างๆที่ธปท.นำมาใช้ก่อนหน้านี้เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเท่านั้น เช่น มาตรการควบคุมธุรกรรมเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ มาตรการผ่อนคลายให้ผู้มีรายได้เงินตราต่างประเทศมีสิทธิในการถือครองเงินตราต่างประเทศนานขึ้น รวมถึง การนำเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น ไม่ได้ช่วยให้เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐสามารถปรับค่าอ่อนลงได้ ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าและยืนอยู่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ธปท.ได้เข้าแทรกแซงโดยใช้ทุนสำรองไปนับแสนล้านบาท จนกระทั่งต้องนำมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าวออกมาใช้
“ผมยืนยันว่า มาตรการกันสำรอง30%ของเงินทุนต่างประเทศได้ผลน่าพอใจ เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก เป็นภาคที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจาก เป็นภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง มีผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ รวมทั้ง ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หากไม่ดำเนินมาตรการเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ย้ำว่า มาตรการ 30% ของธปท. ถือเป็นมาตรการที่ต้องการรักษาภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ นั้นคือภาคส่งออก ถ้าภาคเศรษฐกิจแท้จริงของประเทศมีอันเป็นไป ในที่สุดจะส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในที่สุด
“ในอนาคตพวกคุณจะต้องขอบคุณ คุณธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย) ที่ใช้มาตรการนี้ เพื่อรักษาภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
แรงกระแทกต่อระบบเศรษฐกิจยังไม่หายไปจากมาตรการระเบิดลูกแรก ระเบิดของจริงก็เกิดขึ้นกลางกรุงเทพมหานครกลางดึกของคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คือ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 นอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย และ บาดเจ็บ 42 ราย และ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินสาธารณะ ยังมีผลกระทบต่อจิตวิทยาการบริโภคและความเชื่อมั่นในการลงทุน เพราะจำนวนระเบิดถึง 8 ลูกเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันบริเวณในกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงและมีประชากรอาศัยจำนวนมาก
แน่นอนระยะสั้น ทำให้ประชาชนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย หากไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้ ย่อมมีผลกระทบต่อการลงทุนระยะยาว และถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่สามารถวางมาตรการป้องกันอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้
หลังเกิดเหตุไม่กี่วัน รัฐบาล โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังตัวในการดำรงชีวิต เพราะยังมีความไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับการรอบวางระเบิดอีกอย่างน้อย 2 เดือนนับจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และ ถือเป็นความโชคดีของเศรษฐกิจไทย และ เด็กไทย ที่ไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นในวันเด็กที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ช่วงนั้น รัฐบาลได้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหาร เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีผู้นำคณะปฏิวัติอย่างพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เข้าร่วมงานวันเด็ก เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ถือว่า ช่วยได้มากในสถานการณ์ขณะนั้น ทำให้ประชาชนเริ่มคลายความกังวล ออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
หลายหน่วยงานวิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงเทพมหานครดังกล่าวต่อเศรษฐกิจจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นและความยืดเยื้อของสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อนับรวมปัญหาที่ค้างคา โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ คือ ปัญหาความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมาหลายปี หลายรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลต่อปัญหาความเชื่อมั่นในสถานการณ์การเมืองต่อเนื่องเมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และหลายปัญหาที่ถั่งโถมเข้ามาหลายด้าน โดยเฉพาะจากภายนอก แม้ปัญหาราคาน้ำมันที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงที่ผ่านมาจะคลี่คลายลง แต่การเติบโตที่ลดลงของเศรษฐกิจโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่กว่า 60%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมยังต้องพึ่งพาการส่งออก ฉะนั้น ก็หวังว่าแรงระเบิดจากมาตรการ 30% ที่ธปท.ประกาศออกมาคงจะส่วนช่วยหนุนให้ไทยสามารถพึ่งพาการส่งออกได้ตามที่หวัง