Economic Focus

by admin
487 views

พยากรณ์เศรษฐกิจไทยปี “หมู” (เขี้ยวตัน)
วัดฝีมือรัฐบาลขิงแก่
โดย…หนึ่งหทัย อินทขันตี

“ประเทศไทยกำลังปรับทิศ” เป็นคำพูดของนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กล่าวภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ไม่นาน
การปรับทิศของประเทศไทย หมายถึงการหันมาเสริมสร้างพื้นฐานประเทศ ทั้งด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนอกประเทศหรือโลกาภิวัฒน์ ซึ่งประเทศไทยเคยได้รับบทเรียนครั้งสำคัญมาแล้วเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

อย่างไรก็ตามตลอด 3-4 เดือนที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ บริหารประเทศมา ได้รับการวิภาควิจารณ์ว่าทำงานเชื่องช้าเกินไป ทั้งการแก้ปัญหาที่หมักหมมมาจากรัฐบาลก่อน และปัญหาใหม่ที่วิ่งเข้ามา โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังกัดกร่อนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่งเปิดเผยถึงคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ว่า จะอยู่ที่ระดับ 4-5% ซึ่งเป็นอัตราชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 5%
สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากอัตราการขยายตัวของการส่งออก ที่จะชะลอลงเหลือเพียง 9%จากในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 16.8% โดยเป็นผลมาจากจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดดุลของสหรัฐฯ และการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ปัจจัยด้านการลงทุนภาคเอกชนในปีหน้า ก็อาจจะไม่ขยายตัวได้มากอย่างที่เคยคาดไว้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนหนึ่งยังคงชะลอการตัดสินใจเพื่อรอดูความชัดเจนของรัฐบาลชุดต่อไป รวมทั้งการรอให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติธุรกิจต่างด้าว ให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย
ขณะที่ปัจจัยราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย ที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ก็ไม่จูงใจให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากนัก ทั้งนี้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนปีหน้าจะขยายตัวได้ 7% ส่วนการลงทุนรวมจะขยายตัวได้ 6.2% จากปีนี้
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประมาณการเศรษฐกิจปี 2550 ว่า จะขยายตัวได้ 4.5-5.5%ปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5-5%สาเหตุที่ทำให้คาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น มาจากการที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง
ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นการเบิกจ่ายของภาครัฐที่มากและเร็วขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าในปีหน้า การลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชนจะขยายตัว 8-9% ส่วนการบริโภคของรัฐและเอกชนขยายตัว 4-5% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีหน้าจะขยายตัว 1.5-3% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 1.5-2.5% ลดลงจากปีนี้ ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 4.25-4.75% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่คาดว่าจะขยายตัว 2-2.5%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปีหน้า คือความเสี่ยงจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะปรับสูงขึ้นอีกหรือไม่ เพราะปัญหาด้านการเมืองในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังคงมีอยู่ ขณะที่การส่งออกก็จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น แต่ก็อาจจะกลายเป็นความเสี่ยงในอนาคต หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และทำให้แนวโน้มความเชื่อมั่นปรับลดลง
ส่วน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัว 4-5% โดยมีปัจจัยบวกมาจากการปรับขึ้นของการบริโภค และการลงทุน โดยคาดว่าการบริโภคจะขยายตัว 3.7-4.7%เป็นผลมาจากการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2550 ประกอบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและสถานการณ์การเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่การลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.6-6.6% เนื่องมาจากการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการจัดทำงบประมาณที่เร็วขึ้นและการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550จะปรับตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1-3.1 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตามด้านการส่งออกสินค้าและบริการในปีหน้าอาจจะขยายตัวได้ไม่ดีมากนัก จากการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอลงในปี2550 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2550 จะขยายตัว 9.2-11.2%
ส่วน ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2550 จะยังคงเกินดุลที่ร้อยละ 0.3-2.3 ของ GDP เนื่องจากการเกินดุลบริการ โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว
เมื่อไปดู ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวในอัตรา 4.6% ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวที่ 4.5% ในปีนี้ โดยปัจจัยบวกมาจากการบริโภคที่น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ปรับลดลง และการลงทุนของภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายในปีหน้า
อย่างไรก็ตามการขยายตัวของการลงทุนในปีหน้า ก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นรวมถึงยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ
ขณะเดียวกันในส่วนของภาคการส่งออกในปีหน้า ก็คาดว่าจะชะลอตัวลงโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกที่แท้จริง(Real Export) จะขยายตัว 6% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก ณ ราคาปัจจุบันขยายตัว 11%โดยเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทและการไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจีเอสพีกับสหรัฐฯเหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้คาดว่าดุลการค้าของไทยในปีหน้าจะขาดดุล 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2% ของจีดีพี ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะเกินดุลประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจีดีพีปีหน้าจะขยายตัวได้ประมาณ 4-5% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 4.7-4.9% โดยมีปัจจัยบวกมาจากการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย และการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐและการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล โดยคาดว่าการลงทุนของไทยในปีหน้าจะขยายตัวประมาณ 4-.52%ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5-3.5% ลดลงจากปีนี้ที่เงินเฟ้ออยู่ที่4.7%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีหน้ามาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีหน้าขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง โดยคาดว่าจะขยายตัว10-15% ชะลอลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 17% ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนี้ยังอาจจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าทำให้รายได้เกษตรกรลดลงด้วย
สุดท้าย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีปี 2550 ที่ 4.7%เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ขยายตัวประมาณ 4.5%โดยแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากเสถียรภาพการเมืองดีขึ้น ซึ่งจะมีผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการใช้งบประมาณขาดดุลจะช่วยให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีเงินหมุนเวียนมากขึ้นแ ละการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยด้วย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และระดับราคาน้ำมันโลกที่อาจจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกของไทย
การพยาการณ์เศรษฐกิจของไทยในปีหมู มีความแตกต่างกันไป บางสำนักบอกว่าการขยายตัวของจีดีพีชะลอตัวลง บางสำนักบอกว่าขยายตัวขึ้น แต่ทุกสำนักก็ระบุตรงกันว่า ความเสี่ยงอยู่ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศเอง ดังนั้นการเศรษฐกิจไทยปีหมู จะไม่ใช้เรื่องหมูๆแน่นอน หากรัฐบาลไม่สามารถบริหารความเสี่ยงทั้งสองประเด็นข้างต้นได้