Home สื่อเศรษฐกิจ เรื่องจากปก

เรื่องจากปก

by admin
1523 views

คือพลังแห่งรักและศรัทธา…

โดย……สุขสุดใจ

…น้ำใจไมตรีของประชาชนชาวไทยที่ร่วมกันแสดงออกทั่วประเทศ รวมทั้งที่พร้อมเพรียงกันมาในวันนี้ น่าปลาบปลื้มใจมาก เพราะแต่ละคนได้แสดงออกและตั้งใจมาด้วยความหวังดีจากใจจริง จึงขอขอบใจทุกๆ คน จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคน ทุกฝ่าย ทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจมากขึ้น นึกถึงคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรัก ความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง…

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ 9 มิถุนายน 2549

 

 

ปี 2549 นับเป็นปีประวัติศาสตร์ของชาติไทย ด้วยเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งบรมราชวงศ์จักรี พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงครองแผ่นดินโดนธรรม และทรงอุทิศพระวรกายเพื่อความผาสุกแห่งมหาชนชาวสยาม และถือเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง มิใช่เฉพาะสำหรับประเทศไทย หากแต่สำหรับประชาชาติทั้งหมดในโลกนี้ ด้วยทรงครองราชย์ในฐานะของกษัตริย์ไทยเป็นปีที่ 60 และยังเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกอีกด้วย
ภาพประชนชาวไทยในเสื้อสีเหลืองที่หลั่งไหลกันมาจากทุกสารทิศ ตั้งแต่คืนวันที่ 8 มิถุนายน โดยมีจุดหมายแห่งเดียวกันที่จะมุ่งตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อที่จะรอรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะเสด็จออกมหาสมาคมในวันรุ่งขึ้นอย่างใกล้ชิดนั้น ได้กลายเป็นภาพเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่จะยังคงตราตรึงในใจของประชาชนชาวไทยอย่างมิรู้ลืมเลือน ….จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน จนถนนบริเวณลานพระที่นั่งดุสิต ทอดยาวจนจรดปลายถนนราชดำเนินนอกถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศเนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่พร้อมใจกันใส่เสื้อเหลือง

ปรากฏการณ์คลื่นมหาชนเสื้อเหลืองในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ได้สะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งความรัก ความศรัทธา และความจงรักภักดีอันเป็นหนึ่งเดียวของปวงชนชาวไทย ที่ยากจะหาพลังใดเปรียบเสมือนได้ พลังดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดผ่านคำถวายพระพร “ทรงพระเจริญ” ที่ดังกึกก้องอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกประทับที่สีหบัญชร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนที่มาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ความสงบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข อิ่มเอมใจ ก็ได้เคลื่อนเข้ามาแทนที่ พสกนิกรจำนวนมากถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ หากแต่เป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปีติ ตื้นตันใจ และภูมิใจเป็นที่สุดที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของในหลวง ซึ่งเป็นทั้งพ่อของแผ่นดิน และเป็นพ่อพระในใจปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า

“ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาอยู่ในท่ามกลางมหาสมาคม พร้อมพรั่งด้วยบุคคลจากทุกสถาบันในชาติ ตลอดจนประชาชนชาวไทย ขอขอบใจในคำอำนวยพรและการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ ที่ทุกคนตั้งใจจัดให้ข้าพเจ้าเป็นพิเศษ ทั้งรัฐบาลได้จัดงานครั้งนี้ได้เรียบร้อยและงดงาม น้ำใจไมตรีของประชาชนชาวไทยที่ร่วมกันแสดงออกทั่วประเทศ รวมทั้งที่พร้อมเพรียงกันมาในวันนี้ น่าปลาบปลื้มใจมาก เพราะแต่ละคนได้แสดงออกและตั้งใจมาด้วยความหวังดีจากใจจริง จึงขอขอบใจทุกๆ คน จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคน ทุกฝ่าย ทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจมากขึ้น นึกถึงคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรัก ความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ
ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิด ความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิด จิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดี ที่เจริญนี้ยังมีพร้อมมูลในกาย ในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่า ประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ทั้งประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้รักษาจิตใจและคุณธรรมนี้ไว้ให้เหนียวแน่น และถ่ายทอดความคิด จิตใจนี้กันต่อไปอย่าให้ขาดสาย เพื่อให้ประเทศชาติของเราดำรงยืนยงอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขทั้งในปัจจุบันและในภายหน้า

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล จงคุ้มครองรักษาประเทศชาติไทย ให้ปลอดพ้นจากภัยอันตรายทุกสิ่ง และอำนวยความสุข ความเจริญ สวัสดี ให้เกิดมีแก่ประชาชนชาวไทยทั่วกัน”
ภายหลังพระราชดำรัสจบ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จากนั้นพสกนิกรในบริเวณพิธีต่างพร้อมใจส่งเสียงแซ่ซ้องถวายพระพร “ทรงพระเจริญ…..ทรงพระเจริญ…ทรงพระเจริญ….” อีกครั้งอย่างกึกก้อง พร้อมโบกสะบัดธงทิวสีเหลืองอันเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของในหลวง และสีประจำสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ ควบคู่ไปกับธงไตรรงค์ซึ่งเป็นธงประจำชาติไทย อย่างต่อเนื่องและยาวนาน “จิรพร มรกตจินดา” ผู้สื่อข่าวของโมเดิร์นไนน์ทีวีซึ่งอยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์วันนั้นเล่าด้วยความปลาบปลื้มว่า ได้ชวนเพื่อนๆ ที่สนิทไปนั่งตั้งแต่เช้า แม้รู้ว่าจะต้องเหนื่อย แต่ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้มีกำลังใจที่จะอยู่เฝ้ารอ ท่ามกลางผู้คนหลายหมื่นคนในบริเวณนั้น

“ตอนที่พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสออกมา ทั้งผู้หญิง ผู้ชายที่อยู่ที่นั่นรวมทั้งตัวเราน้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้งแบบไม่รู้ตัว ได้ยินเสียงคนข้างๆ ตะโกนร้องว่า “ทรงพระเจริญ” ในนาทีนั้นอยากจะร้องตาม แต่ร้องไม่ออก เพราะตื้นตันอยู่ข้างใน”

จิรพรบอกว่าถือเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่มีความสุขที่สุดในชีวิต เพราะเป็นพสกนิกรคนหนึ่งที่มีความจงรักภักดี มีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับในหลวงที่ไหน ก็อยากที่จะมีส่วนร่วม มีความสุขกับตรงนั้น

“ศรัญญา ทองทับ” ผู้สื่อข่าวสายพลังงานจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีในช่วงเช้าในวันนั้น ประชาชนจำนวนมากที่เป็นร่วมแสดงความจงรักภักดี ยังคงเดินตามถนนราชดำเนินไปยังสนามหลวง วัดพระแก้วมรกต เพื่อไปชมการซ้อมเห่เรือราชพิธี ชมไฟประดับ และอยู่ร่วมกันจนถึงเที่ยงคืน ความรู้สึกในตอนนั้นเชื่อมั่นว่า ความจงรักภักดีที่มีต่อในหลวงจะไม่มีวันหยุดและไม่มีวันหมดไปจากใจของคนไทย

“ณัฐณิชา ดอนสุวรรณ” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เผยพร้อมรอยยิ้มว่า รู้สึกตื่นเต้นตั้งแต่เช้าระหว่างเดินทางออกจากบ้าน เห็นผู้คนใส่เสื้อสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์เต็มไปหมด ไม่ว่าจะนั่งอยู่ในรถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดิน บางคนเหลืองทั้งตัวแม้กระทั่งเครื่องประดับ จนทำให้เธอที่อยู่ในเสื้อมีเหลืองเช่นกัน เริ่มไม่มั่นใจว่าเหลืองน้อยเกินไปรึเปล่า”

“สิ่งที่ประทับใจ คือ การที่ได้เห็นคนไทยทุกคนได้ร่วมกันใส่เสื้อสีเหลืองและต่างนั่งลงกับพื้นเฝ้าชมการถ่ายทอดสดทางทีวีตามสถานที่ต่างๆ และตัวเราก็มีโอกาสได้เป็นคนหนึ่งในนั้น ในวันประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ”

“จันทิมา ศิลชาติ” ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ เล่าว่า แม้จะนั่งชมการถ่ายทอดสดทางทีวี แต่หลังได้ยินพระราชดำรัส น้ำตาไหลไม่หยุดด้วยความปลาบปลื้มปิติ อยากให้พระองค์ท่านมีพระชนม์มายุยืนยาวอยู่กับพสกนิกรชาวไทยไปตลอด
“กันยา เลขะวัฒนะ” ผู้สื่อข่าวมันนี่ ชาเนล บอกว่า “แค่ได้เพียงสัมผัสบรรยากาศที่คนร่วมแสนร่วมถวายความจงรักภักดีผ่านทางจอทีวีก็ทำให้เกิดความซาบซึ้งและปลื้มปีติแล้ว ภาพที่อยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืมคือ ภาพที่ในหลวงทรงโบกพระหัตถ์เคียงคู่กับสมเด็จพระราชินี ทำให้รู้สึกว่าพระองค์ท่านคอยห่วงใยเราอยู่ และเราควรจะต้องทำความดี เป็นการถวาย เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี” พลังแห่งความรักและศรัทธาที่ชาวไทยได้ร่วมกันน้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ ได้แสดงให้ทั่วโลกประจักษ์แล้วว่า สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นระบอบล้ำค่าสำหรับสังคมไทยอย่างแท้จริง และถ้าวันนี้ประชาชนชาวไทยทั้ง 60 ล้านคน จะต่อยอดพลังแห่งความยิ่งใหญ่นี้ด้วยการที่แต่ละคนปฏิบัติดีทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น วงล้อของสังคมไทยคงจะหมุนและขับเคลื่อนไปสู่เจริญรุ่งเรืองแห่งคุณธรรมอย่างยั่งยืน ดั่งที่พ่อหลวงของพวกเราทุกคนได้ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรมตลอด 60 ปีแห่งการครองราชย์ ที่ได้นำประโยชน์สุขและความร่มเย็นมายังพสกนิกรของพระองค์ ให้คนไทยทุกคนได้ “เย็นศิระเพราะพระบริบาล” โดยแท้

 

************************************

Home สื่อเศรษฐกิจ เรื่องจากปก

เรื่องจากปก

by admin
1427 views

ดัชนีความสุขของนักข่าว
โดย…สุขสุดใจ

เมื่อไม่นานมานี้ เอ็นจีโอกลุ่มเล็กๆ สององค์กร คือมูลนิธิเศรษฐศาสตร์ใหม่ (New Economics Foundation) และ เพื่อนโลก (Friends of the Earth) ซึ่งเป็นสหพันธ์องค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใน 70 ประเทศ ได้ทำการสำรวจดัชนีความสุขของประชากร 178 ประเทศ โดยใช้ตัววัดคือ มาตรฐานความเป็นอยู่ ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ความพอใจในการมีชีวิต ความคาดหวังในชีวิต ปริมาณการใช้ สภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิต ปริมาณที่ดินที่เหมาะสมสำหรับจำนวนประชากร และการบริโภคพลังงาน

พวกเขาพบว่า ประเทศที่เป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้อย่างประเทศ วานูอาตู เป็นประเทศที่มีดัชนีความสุขสูงสุดเป็นอันดับ 1 ขณะที่ประเทศโคลัมเบีย คอสตาริกา โดมินิกา และปานามา ติดอันดับท็อปไฟว์ ส่วนประเทศ ไทย อยู่ อันดับ 32 แพ้ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อย่างเช่น ศรีลังกาที่ได้อันดับ 15 ฟิลิปปินส์ ที่อยู่อันดับ 17 และ อินโดนีเซีย ที่ได้อันดับ 23
หากเชื่อตาม ข้อมูลของมูลนิธิเอ็นอีเอฟ ก็แสดงว่า ปัจจุบันคนไทย เรามีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก มีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย ไม่พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่และต้องดิ้นรนไขว่คว้าหาความสุขอยู่ตลอดเวลา ใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย สิ้นเปลือง แล้วใครละที่ทำให้เราต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น
เมื่อสำรวจดูสภาพแวดล้อมรายรอบตัวในชีวิตของการทำงานแต่ละวัน ผมก็ยังรู้สึกว่า ไทยยังเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก และอยู่แล้วมีความสุขที่สุด ที่บอกเช่นนั้น เพราะผมยังเชื่อว่า ไทยเรายังเป็น เมืองแห่งรอยยิ้ม เมืองแห่งมิตรภาพ มีความเอื้ออาทรต่อกันและกันในยามวิกฤต พร้อมที่จะพูดคำว่า “Welcome to Thailand” กับนักท่องเที่ยวทุกคน เรามีหลักศาสนา ที่สอนให้มีความเมตตา กรุณา ไม่เบียดเบียนกันและกัน อยู่กันอย่างสันติ, มีความสามัคคี มีพระมหากษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่ ทรงทศพิธราชธรรม และครองราชย์มายาวนานถึง 60 ปี มีรัฐบาลที่ยึดเอาแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวในการบริหารประเทศ ถ้าเราเชื่อมั่นในคุณค่าที่เรายังมีอยู่เช่นนี้แล้ว เราจะมีความสุขน้อยว่าคนในประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร ?
หันกลับมามองถึงเรื่องใกล้ตัว ถ้ามีคนถามคุณว่า “อาชีพนักข่าวเป็นอย่างไร ทำแล้วมีความสุขหรือไม่?” คงจะเป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะแต่ละคนคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปในเรื่องของความสุขจากการทำงาน อย่างไรก็ตาม ก็มีหลักการ ที่จะแต่ละคนจะนำความรู้สึกของตัวเองไปเปรียบเทียบได้ ว่าความสุขที่คุณคิด ว่าคุณมีนั้น อยู่ในขั้นใด แล้วขั้นที่สูงกว่านั้นคืออะไร
พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายถึงความสุขของคนเราว่า ว่ามีอยู่ด้วยกัน 5ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 คือ ความสุขจากการเสพวัตถุ ทั้งจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ข้อนี้เป็นความสุขสามัญที่ทุกคนในโลกปรารถนา และดิ้นรนทะยานไป เมื่อได้มาก ก็มีความสุขมาก แล้วก็เพลิดเพลินไปกับความสุขเหล่านั้นขั้นที่ 2 สุขที่เกิดจากคุณธรรม ความมี เมตตา กรุณา มีศรัทธา แต่ก่อนนี้ชีวิตเคยต้องได้วัตถุมาเสพต้องได้ ต้องเอาจึงจะมีความสุข
ถ้าเสียก็ไม่มีความสุข แต่ คุณธรรมทำให้ใจเราเปลี่ยนไป ความรักคือเมตตา การเห็นคนอื่นมีความสุข ทำให้ตัวเองมีความสุขขั้นที่ 3 ความสุขเกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่หลงอยู่ในโลกของสมมติ
ขั้นที่ ๔ ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง คนเรามีความสามารถในการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของมนุษย์ ปรุงแต่งทุกข์ก็ได้ ปรุงแต่งสุขก็ได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้ว่าสภาพจิต 5 อย่างที่ ควรปรุงแต่งให้มีในใจอยู่เสมอ คือ
1.ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกปานใจ
2. ปีติ ความอิ่มใจ
3. ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด
4.ความสุขความโปร่งโล่งใจ คล่องใจ สะดวกใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้น หรือติดขัดคับข้อง
ภาวะที่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการ ไม่มีอะไรมารบกวน
ขั้นที่ ๕ สุดท้าย ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คืออยู่ด้วยปัญญา ที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต การเข้าถึงความจริงด้วยปัญญาเห็นแจ้ง ทำให้วางจิตวางใจลงตัวสนิทสบาย กับทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่อย่างผู้เจนจบชีวิต
หากเราใช้ความสุข 5ขั้น ในทางพุทธศาสนา มาชี้วัดความสุขในการทำงานข่าว ลองมาดูความคิดเห็นของนักข่าวกลุ่มนี้ดูบ้าง ว่า ในแต่ละวันเขามีความสุขในขั้นไหน และอะไร คือความสุขในการทำงานข่าว
เริ่มต้นด้วย “จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์ (ลี่)” ผู้สื่อข่าว สายแบงก์ชาติ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เธอเล่าว่า เคยฝันมาตั้งแต่มัธยมว่าอยากเป็นนักข่าว จนมาเป็นนักข่าวจริง ๆ ที่เดลินิวส์ ตอนแรกก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาทำข่าวเศรษฐกิจ พอรู้ว่าต้องมาช่วงแรก ๆ ก็เครียดเหมือนกัน เพราะคิดว่างานต้องเครียดแน่ๆ
ขึ้นชื่อว่าเศรษฐกิจคงมีตัวเลขยั้วเยี้ยไปหมด แล้วแถมศัพท์เทคนิคก็คงเยอะหน้าดู แต่อยู่ ๆ มาเรื่อย ๆ ก็เริ่มรู้สึกสนุกกับการรู้เรื่องเศรษฐกิจ ถึงบางเวลาจะรู้สึกเบื่อบ้าง แต่โดยรวมก็รู้สึกว่าการเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจมีความสุขดี เพราะทำให้เรารู้เรื่องเศรษฐกิจ ใส่ใจกับมันมากขึ้น จากเดิมที่ตอนเรียนรู้จักแต่ความบันเทิง รู้สึกเหมือนกับได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ
ชีวิตมีสาระมากขึ้น
“เคยรู้สึกบ้างเหมือนกันว่า การเป็นนักข่าวทำให้เรามีเวลาว่างส่วนตัวน้อยลง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วว่าอาชีพนี้เป็นอย่างนี้ ก็เลยทำใจได้ และถึงแม้ว่าจะกินเวลาส่วนตัวเราไปบ้าง แต่บางครั้งก็ทำให้เรามีความสุข เพราะการเดินทางชีพจรลงเท้าตลอดเวลา ก็ทำให้เราได้ทำกิจกรรมที่เราชอบไปด้วยในตัวอีกด้วย นั่นก็คือการถ่ายภาพ”
“วงศ์สุภัทร์ คงสวัสดิ์ (ภัทร์)” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ บอกว่า การเป็นนักข่าวทำให้รู้สึกมี อิสรเสรีภาพเหนือสิ่งอื่นใดบนความรับผิดชอบในงานของตัวเอง สุขสนุกสนานเป็นที่ซู๊ด ไม่งั้นคงไม่ขลุกอยู่กับวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่จบการศึกษาจนกระทั่งถึงวันนี้ อารมณ์รื่นเริงอยู่เป็นนิจ คิดหนักเป็นบางครั้ง เนื่องจากสมองต้องทำงานคิดประเด็นบ้าง ทำงานตามออเดอร์บ้างตามสไตล์ของหนังสือพิมพ์ เช็คข่าวได้ก็ความภาคภูมิใจ
ถ้าไม่ได้ก็ห่อเหี่ยว ทั้งนี้ทั้งนั้น เห็นว่าความสุขของนักข่าว (ส่วนตัว) งานข่าวก็คือ ทำงานได้ตามเป้าประสงค์ มีแหล่งข่าวที่ดี มีข้อมูลที่ดี เป็นความจริงมากที่สุด ก็สุดยอดแล้ว
“รัตพล อ่อนสนิท(อั๋น)” ผู้สื่อข่าวจาก สำนักข่าวดาวโจนส์ เล่าว่า ความสุขของตัวเขา ในการเป็นนักข่าว คือการทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเหตุการณ์ ให้คนส่วนใหญ่รู้ การเล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่าย หรือการเล่าเรื่องที่ดูง่ายๆให้ดูน่าสนใจ “นักข่าวทำให้เราเปิดตัวเองกับสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นทุกวันและมีโอกาสได้แบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นๆ ในหลายครั้งของการทำข่าว ยังเปิดโอกาสให้เราเป็นผู้สังเกตการณ์หรือบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ โดยไม่คาดคิด ทำให้เรามีความสุขกับการที่ได้ทำหน้าที่สำคัญของสังคม นักข่าวเป็นใบเบิกทางที่ ทำให้เราได้พบปะพูดคุยกับผู้คนมากมาย
ตั้งแต่ระดับเศรษฐี คนมีอำนาจ คนถูกล็อตเตอรี่ คนจนหรือคนที่โชคร้ายที่สุด ทำให้เราเข้าใจในชีวิตมากขึ้น มันเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับเรา ที่มีคนจำชื่อเราได้จากข่าวของเรา มีคนทักว่าเห็นเราในทีวีวิ่งไล่ตามแหล่งข่าว”
ปิดท้ายด้วย “ศรัญญา ทองทับ (เอ๋) ” ผู้สื่อข่าวสายพลังงาน จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ บอกว่า ความสุขของการทำงานข่าว คือการได้คิดประเด็น ได้สัมภาษณ์แหล่งข่าวอย่างที่เราต้องการ และที่สำคัญคือตื่นเช้าขึ้นมาได้อ่านข่าวที่ตัวเองเขียนโดยไม่ถูกตัดทอนจาก บรรณาธิการ และรู้สึกว่าข่าวนั้นเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน
ทุกอาชีพ ทุกการทำงานล้วนมีแง่มุมของความสุขซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่า คุณค้นพบมันหรือไม่ เท่านั้น

Home สื่อเศรษฐกิจ เรื่องจากปก

เรื่องจากปก

by admin
1420 views

เสียงของความสุข จากกิจกรรมเล็กๆ เพื่อสังคม
โดย….สุขสุดใจ

กิจกรรมเพื่อสังคมเล็กๆ ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ด้วยการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลงไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้กับเยาวชน ในโรงเรียน วัดปากสมุทร ตำบลแหลมใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม ภายใต้โครงการ”เสริมสร้างความรู้ อยู่อย่างพอเพียง ที่เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี ที่แล้ว ถือเป็นความพยายามที่จะสร้างแรงกระตุ้น ให้กับชุมชนเล็กๆ ได้สร้างบทเรียนแห่งความสุขของตัวเองขึ้น บนฐานของความมีเหตุผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี

กิจกรรมเพื่อสังคมรูปแบบใหม่ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแนวการช่วยเหลือสังคมแบบเดิม ด้วยการบริจาคเงินและสร้างห้องสมุด ที่ค่อนข้างจะเห็นผลในเชิงรูปธรรมในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร มาเป็นแนวทางการช่วยเหลือสังคม ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยเริ่มตั้งแต่ การส่งทีม ลงพื้นที่ โรงเรียนวัดปากสมุทร เพื่อรับทราบปัญหา กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม ระหว่างโรงเรียน ผู้นำชุมชน วัด และชุมชน ในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกัน โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง
ถึงแม้จะใช้เวลานานและไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่หากลองไถ่ถามความรู้สึกของคนในชุมชน โดยเริ่มจากคนในโรงเรียน ก็พอจะได้ยินเสียงของความสุข ดังออกมาจากครูและนักเรียน บ้างแล้ว ซึ่งนั่นอาจจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ของกิจกรรมเพื่อสังคมครั้งนี้ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ หากกระบวนการต่อไป สามารถที่จะสร้างให้เสียงเหล่านั้น ดังขยายออกไปนอกรั้วโรงเรียนถึงผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ อย่างยั่งยืน
เราลองมาฟังเสียงแห่งความสุขเล็กๆ ที่เริ่มต้น จากคนในโรงเรียนวัดปากสมุทร
ที่เล่าถึง กิจกรรมเพื่อสังคม ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ดูพอเป็นตัวอย่าง
อาจารย์เสาวลักษณ์ สุระประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียน วัดปากสมุทร ฯ ได้พูดถึงกิจกรรมเพื่อสังคม ที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า เศรษฐกิจพอเพียง มีความหมายยิ่งใหญ่ เป็นพลังที่จะสร้างรากฐานของชีวิต ให้มั่นคงและยั่งยืน พวกเราชาวโรงเรียนวัดปากสมุทร จึงมีความมุ่งหวังที่ จะสร้างลูกหลานของเรา ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ตามแนวปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ขอขอบคุณทีมงานสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ที่ได้มาให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่พอเพียง ของโรงเรียนวัดปากสมุทร ซึ่งมีส่วนเป็นกำลังใจและพลังความคิด ที่ส่งให้พวกเราได้ร่วมกันทำงานนี้ เพื่อสร้างเยาวชนที่มีหัวใจ…พอเพียง ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ต่อไป”
อาจารย์ จิตวรรณ จันทร์แย้ม และ อาจารย์พิสมัย สุขศรี อาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์
พูดถึงโครงการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ว่า รู้สึกดีใจที่ทางสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้เข้ามาช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นรูป ธรรมตามสภาพ ท้องถิ่นอย่างชัดเจน
ซึ่งน่าจะมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสม เพราะที่ผ่านมา โรงเรียนมีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆอย่างจำกัด ทำให้การจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ยังไม่เต็มรูปแบบเท่าที่ควรจะเป็น
น.ส.นิตยา ดิษแพ (แน๊ท) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร.ร.วัดปากสมุทร พูดถึงความประทับใจ กิจกรรมที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดร่วมกับโรงเรียน ว่า หนูรู้สึกประทับใจ มีความสุข และสนุกมากๆ ค่ะ ที่พี่ๆ จากสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจนำของขวัญ ของรางวัล และขนม มามอบให้เด็กนักเรียน โรงเรียนวัดปากสมุทร ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
น.ส.วลี การะเกต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า ขอบคุณพวกพี่ๆ ได้มาช่วยเรื่องโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในโ รงเรียนวัดปากสมุทร เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนของเรา รู้จักการพอเพียง การอดออม และที่พวกพี่ๆ ได้มาร่วมในงานวันเด็ ก ทำให้หนูและทุกคนในโรงเรียน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่พี่ยังคิดถึงพวกหนู
น.ส. ยุพา ปานประทีป (หนู) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า หนูรู้สึกดีใจสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ที่เข้ามาร่วมจัดกิจกรรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและร่วมสนับสนุนกิจกรรมในวันเด็ก ทำให้เด็กนักเรียนโรง เรียนวัดปากสมุทร สนุก คึกคัก พร้อมได้ความรู้มากขึ้น ครั้งหน้าถ้าโรงเรียนมีกิจกรรม อยากให้สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจมาร่วมจัดกิจกรรมอีกค่ะ
นายบุญอุ้ม เอี่ยมพิมพันธ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้บอกถึงความรู้สึกของเขาในฐานะตัวแทนเด็กนักเรียนโรงเรียนวัด ปากสมุทร ว่า การที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้ร่วมมือกับโรงเรียนวัดปากสมุทร จัดกิจกรรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้มีความ หวังว่าโรงเรียนวัดปากสมุทร จะพัฒนาไปในทางที่ดี ในด้านการเรียน และต้องการให้พัฒนาสภาพแวดล้อมของโรงเรียน
ให้ดีขึ้น
การทำงานเพื่อสังคม เป็นเรื่องของการเสียสละและแบ่งปัน และที่สำคัญต้องมีเจตนาที่ดีที่จะช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง ทำให้คิดไปว่า บางทีรูปแบบและกระบวนการทำงาน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นภายในใจของเด็ก เยาวชน ตัวเล็กๆให้เข้มแข็ง อาจจะสำคัญมากกว่าเงินที่ทุ่มลงไปเพื่อช่วยเหลือสังคมด้วย วิธีที่นิยมกัน คือ การบริจาคเงิน หรือแจกสิ่งของ ซึ่งถึงแม้ว่าผู้ให้และผู้รับจะรู้สึกถึงความสุขในทันที แต่คล้อยหลังจากไปไม่นาน อาจจะมีเสียงของความทุกข์ ตะโกนออกมาก็เป็นได้ กรณีของเงินบริจาค เพื่อช่วยเหลือเหตุการณ์ สึนามิ ที่ภาคใต้ น่าจะเป็นตัวอย่างได้ดี

Home สื่อเศรษฐกิจ เรื่องจากปก

เรื่องจากปก

by admin
1270 views

” ล้านเก้า ” มาจากไหนเอ่ย ??
โดย วิมล ตัน

ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หวังว่าเพื่อนๆ สมาชิก คงสนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ ที่สมาคมฯได้จัดเตรียมไว้ให้ และหากมีเรื่องขาดตกบกพร่องไปบ้าง ต้องขออภัยด้วย ซึ่งทางสมาคมฯพร้อมจะรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงงานให้ดีขึ้นต่อไป

แต่ภาพในวันประชุมใหญ่ของพวกเราวันนั้น นอกจากจะเข้าร่วมประชุมในฐานะสมาชิกของสมาคมแล้ว ยังได้แอบเห็นหลายๆ คนพบปะ ทักทาย เพื่อนฝูงที่นานๆ จะเจอกันสักครั้งอย่างสนุกสนาน จึงทำให้สมาชิกบางคน อาจจะรับทราบวาระการประชุมไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะการแถลงรายรับ-รายจ่ายของสมาคมฯ
ดังนั้น จึงขอถือโอกาสนี้ ชี้แจงให้เพื่อนๆ ได้รับทราบเรื่องเงินๆ ทองๆ และการบริหารจัดการงบการเงินของคณะกรรมการซะเลย
รายรับ-รายจ่ายของสมาคมฯ ประจำปี 2549 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ 88,418 บาท ในประเด็นนี้ยังเป็นที่สนใจของเพื่อนสมาชิกหลายคน และเป็นเรื่องที่คณะกรรม การฯต้องการชี้แจงให้เพื่อนๆ เข้าใจที่มาที่ไปอย่างชัดเจน
ประการแรก และถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ คณะกรรมการชุดปี 2549 ซึ่งมี “วิมล ตัน” ทำหน้าที่นายกสมาคมฯ นั้น ได้รับการเลือกตั้งเข้ามารับงานบริหารสมาคม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 และเริ่มการทำงานวันที่ 1 มีนาคม 2549 นั่นหมายความว่า วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 หรือวันประชุมใหญ่สามัญ จะเป็นวันสุดท้ายของการทำงานครบ 1 ปี ภายใน 1 ปีของการทำงาน หากดูจากตัวเลขรายรับ-รายจ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 มีรายรับทั้งสิ้น 8,992,274.73 บาท ขณะที่มีรายจ่าย 7,045,100.21 บาท หรือมีรายรับสูงกว่ารายจ่ายถึง 1,947,174.52 บาท พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เรามีเงินเหลือจากการทำงานเก็บเข้าบัญชีสมาคมถึง 1.9 ล้านบาท กลับมาที่ตัวเลข ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2549 ที่งบบัญชีแสดงผลรายจ่ายสูงกว่ารายรับที่ 8.8 หมื่นบาทนั้น หากพิจารณาไส้ในของงบฯแล้ว จะพบว่า มาจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากความแตกต่างของระบบการทำงานระหว่างคณะกรรมการชุดก่อนหน้า (ชุดของเพ็ญรุ่ง ใยสามเสน) กับคณะกรรมการชุดนี้ โดยชุดของเพ็ญรุ่งจะใช้วิธีระดมทุนจากผู้สนับสนุนของสมาคมตั้งแต่ต้นปี และเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียว แล้วค่อยจัดทำกิจกรรมตามเงินที่ได้รับ ขณะที่คณะกรรมการชุดปี 2549 ยึดแนวทาง ใช้เท่าไหร่ ก็จะหาเท่านั้นŽ หมายความว่า เราจะคิดกิจกรรมก่อนที่จะหาสปอนเซอร์ จึงทำให้รายรับจากสปอนเซอร์ของชุดเพ็ญรุ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ชุดปี 2549 จะทยอยได้รับตามกิจกรรม และมีรายรับจากสปอนเซอร์ 4-5 องค์กรที่เข้ามาในช่วงต้นปี 2550 ไม่สามารถบันทึกบัญชีได้ทันงวดที่ปิด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 ได้แก่
1.เงินสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่ง 2 แสนบาท
2.เงินสนับสนุนทุนภาษาต่างประเทศจากบริษัท เชฟรอน จำกัด 3 แสนบาท
3.เงินสนับสนุนจากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 3 แสนบาท
4.เงินสนับสนุนจาก บล.กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 4 แสนบาท
5.เงินสมทบกิจกรรมช่วยเหลือสังคมจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 5 หมื่นบาท
ซึ่งหากเงินสนับสนุนเหล่านี้สามารถดำเนินการได้ทันสิ้นปี 2549 ก็เชื่อว่า เราคงไม่เห็นงบบัญชีของสมาคมมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับอย่างแน่นอน!!
นอกจากนี้ยังมีคำถามเกิดขึ้นจากตัวเลขค่าใช้จ่ายจากการจัดงานแรลลี่ ซึ่งตามงบรายรับ-รายจ่าย ปี 2549 จะเห็นว่า สมาคมฯมีค่าใช้จ่ายจากการจัดงานแข่งขันแรลลี่สูงถึง 1.725 ล้านบาท ขณะที่ปี 2548 มีค่าใช้จ่ายเพียง 7.67 แสนบาท ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะตัวเลข ก็เชื่อว่าทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า คณะกรรมการชุดปี 2549 ประสบความล้มเหลวในการจัดกิจกรรมแรลลี่ ผิดกับภาพความสำเร็จที่หลายคนที่ได้ไปร่วมงานถึงกับออกปากว่า เป็นกิจกรรมที่มีสมาชิกและเหล่าพี.อาร์.พันธมิตรไปร่วมงานกันอย่างคับคั่ง สนุกสนาน
จริงๆ แล้วตัวเลขค่าใช้จ่ายแรลลี่ปี 2549 ที่สูงถึง 1.725 ล้านบาทนั้น เป็นเพราะเป็นการรวมค่าใช้จ่ายแรลลี่ 2 ครั้ง กล่าวคือ มีค่าใช้จ่ายแรลลี่เส้นทางกรุงเทพฯ-ชะอำ ของคณะกรรมการชุดเพ็ญรุ่งร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากแรลลี่ครั้งนั้นจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2549 ขณะที่แรลลี่เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง ของคณะกรรมการชุดปี 2549 จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2549 แต่หากแยกพิจารณาเฉพาะการจัดแรลลี่เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ปรากฏว่า เรามีรายรับถึง 3.2 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่าย 9.4 แสนบาท
หมายความว่า การจัดแรลลี่มีรายรับสูงกว่ารายจ่ายถึง 2.2 ล้านบาทเศษ มีเหลือมากพอที่จะสามารถนำไปจัดกิจกรรมสังคมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่โรงเรียนวัดปากสมุทร จังหวัดสมุทรสาคร และเหลือพอที่จะเก็บเข้าเป็นทุนสำหรับใช้บริหารจัดการงานของสมาคมได้อีก
หวังใจว่าสมาชิกทุกท่านจะสบายใจขึ้น หลังได้รับทราบข้อมูลทั้งหมด แต่หากยังมีข้อสงสัยคณะกรรมการฯ พร้อมจะชี้แจงในทุกประเด็น และต้องขอขอบคุณสมาชิกหลายท่านที่ห่วงใย ถามไถ่กันเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่สมาชิกเอาใจใส่และติดตามการดำเนินงานของสมาคมอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะสมาคมของเรา ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของอยู่แล้ว
ขอบคุณจากใจ…

Home สื่อเศรษฐกิจ เรื่องจากปก

เรื่องจากปก

by admin
1058 views

นักธุรกิจไม่คาดหวังในเนื้อหาของ
รัฐธรรมนูญ…
แค่ขอให้ประกาศใช้ได้ตามกำหนดก็พอ…
โดย อนันตเดช พงษ์พันธุ์

หลายคนคงเห็นตรงกันว่าความสับสนวุ่นวานทางการเมืองตอนนี้เป็นปัจจัยลบสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ และหลายคนก็เห็นตรงกันอีกนั่นแหละว่า สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้น ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าต้องมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ดังนั้นทั้งหลายทั้งปวงทำให้คิดได้ว่าความหวังของประเทศไทยตอนนี้ก็คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั่นเอง….แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดแต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นภาวะ “Dead Lock”

ต้องยอมรับว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านกระบวนการซับซ้อนมากมายหลายขั้นตอนกว่าที่ผ่านๆ มา แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่รู้จะคาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มากน้อยแค่ไหน…
แต่สิ่งหนึ่งที่เรา (สมาคมผู้ข่าวเศรษฐกิจ) ที่พอจะทำได้ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม คือการสะท้อนมุมมองและความคิดของกลุ่มคนสำคัญ โดยเฉพาะ “นักธุรกิจ” ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญกลุ่มหนึ่งในสังคม
คุณวิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท อารียา พร็อพเพอร์ตี้…บอกว่ายังตั้งความหวังอะไรในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้แน่ เชื่อว่าหลักจากที่มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรรมนูญอีกครั้ง ตอนนี้เท่าที่ดูมีปัญหาหลายจุดที่ไม่รู้จะหาข้อยุติอย่างไร เช่น เรื่องศาสนาประจำชาติ เรื่องที่มา ส.ส.และ ส.ว. เรื่องการให้ความสำคัญของเกษตรกรและอาชีพอื่น
แต่ถึงกระนั้นตอนนี้ก็ต้องการให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญออกมาก่อน เพื่อจะได้เกิดการเลือกตั้งซึ่งจะได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขืนปล่อยให้การเมืองยังอึมครึมอยู่อย่างนี้จะเกิดความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจของประเทศแน่นอน โดยเฉพาะในประเด็นของขีดความสามารถในการแข่งขัน
“แม้ว่าจะไม่ได้คาดหวังในเรื่องรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อย่างน้อยก็ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักว่า อย่างน้อยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะสร้างปัญหาอื่นตามมาอีก และก็ไม่อยากให้เขียนออกมาเพื่อแก้ปัญหาแบบ “วัวหายล้อมคอก” อย่างประเด็นที่มาของ ส.ส. และ ส.ว.” วิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี กล่าว
ไม่เพียงแต่คุณวิศิษฎ์เท่านั้นที่ดูเหมือนจะไม่คาดหวังอะไรกับรัฐธรรมนูญ เสียงสะท้อนจาก คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ คุณสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ชี้ชัดว่า ภาคธุรกิจหวังอะไรโดยตรงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้…ทั้งสองคนพูดตรงกันว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นระบุสาระเกี่ยวกับภาคธุรกิจไว้น้อยมาก สิ่งที่ต้องรอดูต่อจากนี้คือกฎหมายลูกและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะออกตามมา
และก็เหมือนกับที่คุณไพบูลย์ พลสุวรรณ รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สทร.) ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจค่อนข้างน้อย
นอกจากเรื่องของความใส่ใจในภาคธุรกิจค่อนข้างน้อยของรัฐธรรมนูญ นักธุรกิจ ชั้นนำด้านการเงินการธนาคารอย่าง คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องความแตกแยกทางความคิดด้วย เขาเป็นห่วงว่าจะไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยสันติวิธี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย
ประเด็นของ คุณบัณฑูร สอดคล้อง กับนักธุรกิจอีกหลายคน ทั้ง คุณศุภกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์นครหลวง คุณสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย คุณชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ คุณสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าปลีกค้าส่งไทย และ คุณพรชัย ชื่นชมลดา นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ…และเชื่อว่าจะเหมือนกับนักธุรกิจทุกคน…ที่เกรงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ผ่าน
ทุกคนเชื่อว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่ผ่าน ก็ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาแก้ไขเพื่อประกาศใช้ต่อไป แต่ไม่รู้กระบวนการจะใช้ระยะเวลาแค่ไหน และเชื่อว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริงการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นภายในปีนี้แน่นอน…ซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เลวร้ายลงไปกว่านี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่ตอนนี้แทบจะไม่มีอยู่แล้วก็จะกลายเป็นติดลบ ขณะที่ภาคการบริโภคในประเทศจากที่ไม่กล้าจะใช้จ่ายก็จะกลายเป็นว่าไม่มีกำลังที่จะใช้จ่าย เพราะไม่มีงานทำ
เสียงสะท้อนเหล่านี้น่าจะพอให้ทุกคนทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญพึงสำเนียกได้ว่า โปรดได้อย่าเล่นเกมยื้ออำนาจกันอีกต่อไปเลย…เพราะประเทศบอบช้ำมามากพอแล้ว…ถ้าต้องใช้เลือดทาแผ่นดินอีกครั้ง…ต่อไปก็คงไม่มีแผ่นดินให้พวกท่านได้ยืนอีกแล้ว….

Home สื่อเศรษฐกิจ เรื่องจากปก

เรื่องจากปก

by admin
1130 views

โดย……อนันตเดช พงษ์พันธุ์
ภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง…จะไปทางไหน…เมื่อหมอกควันทางการเมืองเริ่มเบาบาง…
เมื่อตอนต้นปี 2550 หลายคนมองว่าน่าจะเป็นปีหมูทอง เพราะสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มชัดเจน…แต่อยู่มาได้ 3 เดือน ผู้คนก็เริ่มโอดโอย เพราะสิ่งที่ทุกคนคาดว่าจะจบกลับไม่ยอมจบ…ซ้ำ กลับส่อแววว่าจะเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังต่อไป…ทำให้ดัชนีทางเศรษฐกิจทุกตัวหล่นวูบลง จนต้องปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจทุกประเภท ต้องเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์กันวันต่อวัน

เมื่อขึ้นไตรมาส 2 อะไรๆ ก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น จนกระทั่งมีการตัดสินยุบพรรคการเมือง และนายกรัฐมนตรีประกาศวันเลือกตั้ง ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่วางไว้ในเดือนธันวาคม ทำให้หลายคนบอกว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำแล้ว
เดือนกรกฎาคม เดือนเริ่มต้นไตรมาส 3 คงได้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจแต่ละกลุ่มว่าไปอย่างไร ซึ่งนั่นหมายความ ว่าก็พอจะบอกได้ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง จะถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกตัวไหน
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้นประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ 1. การส่งออก-นำเข้า 2.การลงทุนภาคเอกชน(อุตสาหกรรม) 3.การลงทุนของภาครัฐ (เงินงบประมาณ) 4.การบริโภคของภาคเอกชน
สำหรับแนวโน้มของเครื่องยนต์ตัวหลักตัวแรก คือการส่งออกและนำเข้า…สถานการณ์ ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคม มีมูลค่าการส่งออก 13,049.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ก่อน 20.9 % ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้การส่งออก ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าทั้งสิ้น 58,747.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 18.8 % โดยแต่ละกลุ่มสินค้า ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม อาหารแปรรูป มีปริมาณการส่งออกสูงขึ้นทุกตลาดทั่วโลก
ขณะที่การนำเข้าเดือนพฤษภาคม มีการนำเข้า 12,248.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7 % โดยทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป สินค้าอุปโภค-บริโภค สูงขึ้นตามลำดับ ส่วนสินค้าเชื้อเพลิงมีอัตราลดลง ขณะที่การนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 53,420.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.4 % ซึ่งดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม เกินดุล 802 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลการค้ารวม 5,326.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ไทยขาดดุลการค้า 1,753 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกในปี 2550 น่าจะขยายตัวตามคาดหมาย คือ 12.5 % คิดเป็นมูลค่า 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากไม่มีสถานการณ์เหนือคาดหมาย ราคาน้ำมันไม่ผันผวน เศรษฐกิจโลกเอื้ออำนวย และสามารถหาตลาดใหม่ๆ น่าจะทำให้ไทยเกินดุลการค้าไม่ต่ำกว่า 8,000-9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อ ตลอดปี 2550 จะเป็นไปตามคาด คือ ร้อยละ 2-2.5
ส่วนเครื่องยนต์หลักตัวที่สอง คือการลงทุนภาคเอกชน หรือ ภาคอุตสาหกรรม นั้น สถานการณ์ล่าสุดเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว โดย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 86.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนซึ่งอยู่ที่ระดับ 77 โดยมีปัจจัยบวกด้านยอดขายและยอดคำสั่ง ซื้อเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยลดลงทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการดีขึ้น นับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะมีการขยายการลงทุนในไตรมาสที่ 3 และ 4 ทำให้เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัว ในครึ่งปีหลัง
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่าการที่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก ส่วนสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมที่มีการสำรวจยอดคำสั่งซื้อและยอดขายมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งมีปัจจัยบวกด้านอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินของการประกอบการปรับตัวลดลง ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่อง จึงล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากค่าดัชนีความเชื่อมั่นมีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะถือเป็นสัญญาณที่ดีมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง
“ปัจจัยที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดีขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการมีความเห็นว่าสถานการณ์การเมืองยังคงเป็นอุปสรรคที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งความเชื่อมั่นในการลงทุน แต่ผู้ประกอบการมองว่าหากร่างรัฐธรรมนูญสามารถผ่านประชามติและการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้าย”
ส่วนเครื่องยนต์หลักตัวที่ 3 คือการใช้จ่ายของภาครัฐนั้นแน่นอนว่ามาจากเงินงบประมาณ ตัวเลข 8 เดือนของปีงบประมาณ 2550 มีการเบิกจ่ายของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 990,363 ล้านล้านบาท สูงกว่าการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.1 โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 906,609 ล้านบาท อัตราการเบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 57.9 ของวงเงินงบประมาณ (1,566,200 ล้านบาท) และรายจ่ายปีก่อน 83,754 ล้านบาท…ก่อนสิ้นปีงบประมาณปี 50 รัฐบาลคงกระตุ้นการเบิกจ่ายให้ได้อย่างน้อย 85-90 % ของงบประมาณ
และถึงตอนนี้รัฐบาลเองก็คงจะรู้ตัวว่าจะต้องเป็นตัวนำในการเรียกความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยใช้การลงทุนของภาครัฐเป็นตัวนำ กรอบงบประมาณจึงตั้งไว้สูงถึงประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลก็รู้ว่าไม่น่าจะหารายได้เท่ากับกับรายจ่ายจึงได้ตั้งเป็นงบประมาณขาดดุล และที่น่าสังเกตคือมีการขยายกรอบการขาดดุลงบประมาณเพิ่มด้วย ซึ่งจำนวนที่เพิ่มนั้นก็เพื่อมากระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ….ตัวอย่างชัดเจนคือการเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการอีกร้อยละ 4 รวมประมาณ 17,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ และมีงบประมาณอีก 8,000 ล้านบาท เตรียมกระจายสู่ชุมชน ผ่านทางโครงการอยู่ดีมีสุข
ส่วนเครื่องยนต์หลักที่ 4 คือการบริโภคในประเทศนั้น แน่นอนว่าในภาวะที่การเมืองยังไม่สะเด็ดน้ำ ไฟใต้ยังคงคุกรุ่นแบบนี้ ยากเหลือเกินที่จะทำให้คนกล้าที่จะใช้จ่ายเงิน…รัฐจึงต้องออกแรงกระตุ้นโดยเฉพาะกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะหากภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวก็จะพาเอาธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ขยายตัวตามไปด้วย ไล่ไปตั้งแต่ เหล็ก หิน ดิน ทราย เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไล่ไปจนถึงวงการสื่อ ดังนั้นรัฐต้องออกอกมาตรการ เพิ่มค่าลดหย่อนดอกเบี้ยผ่อนชำระบ้านจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท ซึ่งถ้ายังไม่เวิร์กอีก รัฐบาลก็คงออกมาตรการอะไรแรงๆ มาอีกระลอก…อาจจะใช้มาตรการภาษี หรือ มาตรการ การเงิน (ผ่านทางสถาบันการเงินของรัฐ) เป็นเครื่องมือ
ส่วนภาพของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังโดยภาพรวมนั้น…ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะมีความชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2550 เป็นต้นไป เป็นผลจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่น่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น ตลอดจนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2550 แรงหนุนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระบบที่นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าปัจจัยบวกต่างๆ เหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0-5.0 ในครึ่งหลังของปี 2550 เมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.0-3.5 ในช่วงครึ่งปีแรก
เมื่อไล่เรียงแจกแจงกันจะจะแบบนี้ก็ดูเหมือนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังพอจะดูมีความหวังได้บ้าง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีปัจจัยที่ต้องกังวล เหมือนอย่างที่ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวไว้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม เป็นห่วงเรื่องความเชื่อมั่นและการบริโภคของประชาชน ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงมากอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งโดยเร็วในปลายปีนี้ และการเมืองมีความชัดเจน น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา เช่นเดียวกับนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่แสดงความกังวลถึง สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง รวมทั้งสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งก็คงเหมือนกับผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่เลือกที่จะรอดูความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง ทั้งในประเด็นด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ
และมาถึงตรงนี้แล้วทั้งหลายทั้งปวงก็มิอาจจะปฏิเสธได้ว่า ต่อจากนี้ ประเทศชาติ บ้านเมือง ภาวะเศรษฐกิจ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร…มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้บริหารประเทศขณะนี้…ว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองมันสงบสุขเสียที…

Home สื่อเศรษฐกิจ เรื่องจากปก

เรื่องจากปก

by admin
1137 views

เบื้องหลัง
“ปฏิบัติการ(นักข่าว) ล่าฝัน” วันที่ฝันของเขาเป็นจริง

กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ไปแล้ว สำหรับน้อง ๆ นักข่าวทั้ง 6 คน 5 ทีม ในนาม “เจเอฟ หรือ Journalist Fantasia” ภายใต้การค้นพบในงานปาร์ตี้แรลลี่ประจำปีนี้ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่งจบลงไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เป็นดาวดวงใหม่ที่โด่งดังมาแรงเพียงชั่วข้ามคืน ว่ากันว่า พอจบงานแรลลี่ ก็ได้รับการทาบทามจากพีอาร์หลายต่อหลายแห่งให้ไปโชว์ตัว จนคิวชักจะเริ่มยาวเหยียด หลายคนถามไถ่ถึงเบื้องหลังที่มาของเหล่าศิลปินเจเอฟ ก็ต้องย้อนไปเมื่อ 5-6 เดือนก่อนที่กรรมการสมาคมเริ่มต้นเตรียมงานแข่งขันแรลลี่ประจำปี ซึ่งกำหนดเส้นทาง ที่พัก และรูปแบบของงานปาร์ตี้ในช่วงกลางคืน ตอนนั้นไอเดียในการจัดงาน เรามุ่งเน้นไปที่ความสนุกสนาน ผ่อนคลาย และบรรยากาศที่เป็นกันเอง แต่พอถึงตอนคิดคอนเซ็ปต์ของกิจกรรมบนเวทีในช่วงปาร์ตี้กลางคืน ไอเดียก็หยุดชะงัก เพราะคิดไม่ออก บอกไม่ถูกว่า อยากได้แบบไหนถึงจะถูกใจสมาชิกนักข่าว และพีอาร์ที่อุตส่าห์มาร่วมงานแรลลี่ ไอเดียมาปิ๊งขึ้นจาก “น้องกบ-โสภี ฉวีวรรณ” น้องพีอาร์รูปร่างกระทัดรัดจากเมืองไทยประกันภัย ที่เผอิญมีการพูดคุยกันก่อนหน้า และทราบมาว่า สมาคมฯจะมีการจัดกิจกรรมอบรมวิชาชีพ หนึ่งในนั้นคือ การจัดอบรมร้องเพลง ซึ่งนายกสมาคมฯ ถูกรบเร้าหลายรอบจาก “จีจี้-จิตวดี เพ็งมาก” นักข่าวจากเดลินิวส์ว่า อยากจะเรียนร้องเพลงมาก กบก็เลยเสนอว่า ในเมื่อมีการอบรมร้องเพลงอยู่แล้ว ทำไมสมาคมฯไม่จัดประกวดเลียนแบบเอเอฟไปเลย!!
และแล้ว การเตรียมงานประกวด(นักข่าว)ร้องเพลงก็เริ่มต้นขึ้น ด้วยความช่วยเหลือติดต่อประสานงานอย่างดีจาก ต้อม-พีอาร์พีเดีย เราได้ “ครูแอน-นันทนา บุญหลง” มาเป็นครูสอนร้องเพลงให้กับนักข่าว เราขอให้ครูแอนช่วยเป็นแมวมอง หาศิลปินนักร้องในกลุ่มนักข่าวกว่า 50 คนที่สมัครเข้ามาร่วมกิจกรรมอบรมในวันนั้น นั่นเป็นที่มาของทั้ง 5 ทีมเจเอฟ ประกอบด้วย
เจเอฟ 2 จิม-ศศิธร ใจกล้า จากนสพ.ทันหุ้น
เจเอฟ3 มี 2 คน คือ มะ-สุธารัตน์ เกสร จากนสพ.ผู้จัดการ กับจีจี้-จิตวดี เพ็งมาก จากนสพ.เดลินิวส์
เจเอฟ9 หนุ่ม-ทศพล กระสายเงิน จากนสพ.โลกวันนี้
เจเอฟ 14 อั้ม-ชาลินี กุลแพทย์ จากนสพ.กรุงเทพบิสวีค
เจเอฟ 15 ออย-พัชรินทร์ อิ่มพิทักษ์ จากนสพ.ฐานเศรษฐกิจ
ปฏิบัติการครั้งนี้ เกิดขึ้นรวดเร็วสายฟ้าแลบ น้อง ๆ ทั้ง 5 ทีมไม่รู้ตัวกันมาก่อนว่า หลังจากอบรมเสร็จ จะได้รับภาระกิจให้ต้องเตรียมตัวประกวดร้องเพลงในงานแรลลี่ ในช่วง 1 เดือนก่อนงานแรลลี่ เราประสานงานนัดแนะกับน้อง ๆ เจเอฟถึงการเลือกเพลงที่จะประกวด การเตรียมแดนเซอร์ นัดซ้อม(แค่ครั้งเดียว) ก่อนวันแรลลี่เพียงวันเดียว ซึ่งวันนั้นไม่มีใครรู้ว่า การประกวดจะออกหัวหรือก้อย จะสนุกสมใจหรือกร่อย(เพราะน้อง ๆ ไม่สนุกด้วย) แต่ผิดคาด เมื่อถึงวันงาน ความตกตะลึงพรึงเพริดเกิดขึ้นบนเวที “ปฎิบัติการ(นักข่าว)ล่าฝัน)” ในค่ำคืนนั้น ไม่มีใครเชื่อมาก่อนว่า พวกเขาทำได้(ถึงขนาดนี้) แม้แต่เพื่อนฝูงนักข่าวในสายเดียวกัน ก็ยังนิ่งอึ้งกับเซอร์ไพร์สที่ได้เห็น โดยเฉพาะน้องจิม เจเอฟ 2 ดูเหมือนว่า จะได้รับการกล่าวขานมากที่สุดว่า เธอทำให้ หนุ่มแสบ-เฉลิมชัย ศิรินันทวิทยา จากมันนี่แชแนล ซึ่งทำหน้าที่เป็น Commentator ในการประกวด ถึงกับรำพึงรำพันออกมาว่า “เพื่อน..กูรักมึงว่ะ” สำหรับทีมเจเอฟ 3 ซึ่งได้รับคะแนนโหวตสูงสุดในค่ำคืนนั้น แทบจะไม่ต้องพูดกันเลยว่า ทีมนี้สุดยอดขนาดไหน แค่เห็นเสื้อผ้า หน้า ผมของมะและจีจี้ ถือว่ากินขาด สไตล์รุนแรงกระชากความรู้สึกของผู้ชมเป็นที่สุด บวกกับเสียงร้อง ท่าเต้นที่สุดเหวี่ยง เลียนแบบเดํะ ๆ มาจากต้นฉบับ อาภาพร นครสวรรค์ แต่เป็นอาภาพรในคราบโก๊ะตี๋ มีแต่เสียงฮือฮากระหึ่มไปทั้งห้องเพราะผู้ชมหัวเราะกันจนหมดเสียงไปแล้ว แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงที่ผู้ใหญ่พยายามปิดตาไม่ให้เห็นภาพชัดเจนนัก(เพราะกลัวจะติดตา) ก็ยังวิ่งจู๊ดไปเกาะขอบเวทีจ้องกันตาไม่กระพริบ
หลังจากนั้นยังต้องมนต์สะกดหยอดไข่ให้คะแนนไปด้วยอีกต่างหาก ทำให้เจเอฟ 3 คว้ารางวัลที่ 1 แพ็คเกจท่องเที่ยว กรุงเทพ-ฮ่องกง 2 ที่นั่ง มูลค่ากว่า 5 หมื่นบาทไปครอง ตามด้วยเจเอฟ2 ได้รางวัลที่ 2 คือ แพ็คเกจท่องเที่ยว โรงแรมเดอะ ทับแขก รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดกระบี่ รางวัลที่ 3 เป็นของเจเอฟ 14 คือ กล้องถ่ายรูปพานาโซนิค ลูมิกซ์ มูลค่า 1.3 หมื่นบาท รางวัลที่ 4 คือ ทีวีซัมซุง 29 นิ้ว ตกเป็นของน้องออย เจเอฟ 15 ส่วนน้องหนุ่ม เจเอฟ 9 ได้รางวัลที่ 5 เป็นจักรยานแอลเอ
งานในคืนนั้นจบลงด้วยความสนุก ตื่นเต้น พร้อม ๆ กับฝันของน้องนักข่าวเหล่านี้เป็นจริงเหมือนกับท่อนหนึ่งของเพลงที่ร้อง
“จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า จะไปไขว่คว้าเอามาเหมือนใจฝัน
จะไปให้ถึงปลายทางในวันนั้น จะเป็นคนดังจะอยู่ในแสงไฟ…

Home สื่อเศรษฐกิจ เรื่องจากปก

เรื่องจากปก

by admin
1096 views

อย.กับสมาคมนักข่าว
โดย……วิมล ตัน

สืบเนื่องจากคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกหนังสือพิมพ์ว่า ประสบปัญหาในการทำงาน มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำให้การเสนอข่าว หรือลงภาพผลิตภัณฑ์สินค้าบางรายการถูกทาง อย.ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ เนื่องจากเป็นการลงโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจากทาง อย. ด้วยเหตุนี้ทำให้คณะกรรมการฯ ตัดสินใจที่จะเข้าทำหน้าที่ “สื่อกลาง” ในการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าเดิม อย. และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เคยมีการเจรจาหารือในเรื่องดังกล่าวกันมาแล้ว และได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็ม โอ ยู) ระหว่างกันขึ้นเมื่อปี 2548 แต่เมื่อพิจารณาข้อความในเอ็ม โอ ยู พบว่าอาจจะมีข้อความบางส่วนที่ไม่ทันกับสถานการณ์ ทำให้การทำงานในปัจจุบันยังมีช่องโหว่ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสื่อกับผู้ปฏิบัติงานของ อย.อยู่
สืบเนื่องจากคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกหนังสือพิมพ์ว่า ประสบปัญหาในการทำงาน มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำให้การเสนอข่าว หรือลงภาพผลิตภัณฑ์สินค้าบางรายการถูกทาง อย.ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ เนื่องจากเป็นการลงโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาจากทาง อย. ด้วยเหตุนี้ทำให้คณะกรรมการฯ ตัดสินใจที่จะเข้าทำหน้าที่ “สื่อกลาง” ในการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าเดิม อย. และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เคยมีการเจรจาหารือในเรื่องดังกล่าวกันมาแล้ว และได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็ม โอ ยู) ระหว่างกันขึ้นเมื่อปี 2548 แต่เมื่อพิจารณาข้อความในเอ็ม โอ ยู พบว่าอาจจะมีข้อความบางส่วนที่ไม่ทันกับสถานการณ์ ทำให้การทำงานในปัจจุบันยังมีช่องโหว่ ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสื่อกับผู้ปฏิบัติงานของ อย.อยู่
ดังนั้น สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจึงได้เริ่มประชุมหารือร่วมกับคณะตัวแทนของ อย.ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2550 และดำเนินการประชุมอีกหลายครั้ง จนได้มาซึ่งข้อสรุปร่วมกันว่า เห็นควรให้มีการปรับความเข้าใจให้ตรงกัน ระหว่างคำว่า “การโฆษณา” กับ “การประชาสัมพันธ์” เนื่องจากการทำงานของนักข่าวในบางครั้งเป็นการเสนอข่าวในแง่ของการช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับสินค้า โดยไม่มีค่าจ้างตอบแทน ซึ่งถือว่าไม่เข้าข่ายการโฆษณาสินค้า ดังนั้น หากมีการนำเสนอข้อความที่สินค้านั้นๆ ไม่ได้รับอนุญาตจากทาง อย. ก็น่าจะอยู่ในข่ายที่ได้รับการผ่อนปรน หรือเว้นโทษปรับจากทาง อย.ได้บ้างซึ่งทาง อย.ก็รับไปพิจารณา โดยเสนอทางออกว่า หากมีการเสนอข่าวหรือข้อความของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิด ทางสื่อก็ควรจะมีการพิจารณาลงแก้ไขข้อความให้ถูกต้อง
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทาง อย.และสมาคมฯ เห็นตรงกันว่า ควรจะจัดให้มีการพบปะหารือกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การทำงานราบรื่น และมีการประสานการทำงานกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รายละเอียดของการหารือดังกล่าว ได้มีการจัดทำเป็นเอ็ม โอ ยู ฉบับล่าสุด ปี 2550 ขึ้น และได้มีการลงนามร่วมกันเมื่อวันอังคารที่ 8 มกราคม 2551 ณ โรงแรมริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศร์ ซึ่งมี น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วยนางสาววิมล ตัน นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และนางสาวนาตยา เชษฐโชติรส นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ ปี 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันและลดการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายด้านการโฆษณาและการเสนอข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อ ซึ่งเนื้อหาในบันทึกข้อตกลง (เอ็ม โอ ยู) ฉบับปี 2550 รวมทั้งกรณีต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือมีปัญหาเรื่องการลงโฆษณาสามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ อย. ได้โดยดูรายละเอียดที่เว็บไซต์สมาคม econmass.com

บันทึกความเข้าใจ
ระหว่าง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กับสมาคมนักข่าว
นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
เรื่อง
การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อ พ.ศ. 2551

…………………………………….

เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วยการโฆษณาที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเฉพาะที่มีการโฆษณาทางสื่อต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และลดปัญหาข้อโต้แย้งในกรณีที่มีการดำเนินคดีตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา อีกทั้งเพื่อเป็นการประสานความร่วมมือ และสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการโฆษณาให้มีประสิทธิภาพ และเข้มแข็งอย่างมีบูรณาการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจไว้ ดังต่อไปนี้

หมวด 1 บททั่วไป

1. ในบันทึกความเข้าใจนี้
“โฆษณา” หมายความรวมถึง กระทำการไม่ว่าด้วยวิธีใดๆให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า
“การประชาสัมพันธ์” หมายความว่า การที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว ภาพ หรือบทความ โดยไม่ได้รับประโยชน์ทางการค้า
“ข้อความ” หมายความรวมถึง การกระทำให้ปรากฏด้วยตัวอักษร ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมาย หรือกระทำการอย่างใดๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจความหมายได้
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือบริการ เเละหมายความรวมถึง ผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย
“สื่อโฆษณา” หมายความว่า สิ่งที่ใช้เป็นสื่อในการโฆษณา เช่น หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ หรือป้าย
“โฆษณาแฝง” หมายความรวมถึงการแสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งมิได้แสดงในรูปแบบของการโฆษณาโดยทั่วไปหรือในสิ่งโฆษณา แต่ได้นำเสนอในรูปของบทความ บทสัมภาษณ์ คอลัมน์ หรือรูปแบบอื่นใดอันมีลักษณะสื่อถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ
“ผลิตภัณฑ์สุขภาพ” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง หรือวัตถุอันตราย

2. ข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพตามกฎหมาย
2.1 การโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ผู้โฆษณาจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนจึงจะโฆษณาได้ ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2531 ตามลำดับ
(1) การโฆษณายา และเครื่องมือแพทย์ ที่กระทำเพื่อประโยชน์ในทางการค้าต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะทำการโฆษณาได้
(2) การโฆษณาอาหาร หากโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของอาหาร เพื่อประโยชน์ทางการค้าไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะทำการโฆษณาได้ แต่ถ้าไม่มีการแสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของอาหารนั้น ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับอนุญาตโฆษณา
2.2 การโฆษณาเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สามารถโฆษณาได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตโฆษณาก่อน แต่จะต้องแสดงข้อความหรือภาพ ตามที่ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

3. การประสานความร่วมมือ
เพื่อเป็นการป้องกัน ละลดการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อันจะทำให้การโฆษณาเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง จึงกำหนดแนวทางการพิจารณาและประสานความร่วมมือ ดังนี้
3.1 การเสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ ข้อความ ภาพ บทความ หรือการโฆษณาแฝงของสื่อและผู้ประกอบธุรกิจให้คำนึงถึงหลักเจตนาเป็นสำคัญ
3.2 การเสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ ข้อความ ภาพ บทความ หรือการโฆษณาแฝง หากก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข ให้สื่อเป็นผู้แก้ไข ชี้แจง หรืออธิบายข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย
3.3 ใช้คู่มือเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพตามที่ปรากฏในภาคผนวก เป็นข้อมูลแนวทางประกอบการพิจารณาดำเนินการโฆษณา ดังนี้
(1) ภาคผนวก ก. คู่มือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพสำหรับผู้รับผิดชอบสื่อโฆษณา
(2) ภาคผนวก ข. คู่มือแนวทางการพิจารณาข้อความหรือภาพที่มีลักษณะเกินจริง เป็นเท็จ หลอกลวง หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค และอื่นๆ
3.4 ก่อนที่จะโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ในสื่อต่างๆ ให้บรรณาธิการตรวจสอบกับผู้ประกอบธุรกิจในเบื้องต้นก่อนว่าข้อความหรือภาพที่จะลงโฆษณานั้น ได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วมีใบอนุญาตให้โฆษณา และแม้จะมีข้อความหรือภาพนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตซึ่งมิใช่เป็นการกระทำของสื่อ การโฆษณาของสื่อนั้น ย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย
3.5 จัดให้มีการประชุม อบรม สัมมนาร่วมกัน เพื่อประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
3.6 การประสานและปรึกษาหารือเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ติดต่อโดยตรงกับหน่วยงานโฆษณาของแต่ละผลิตภัณฑ์ ตามที่ปรากฏในท้ายภาคผนวก ข

หมวด 2 การกระทำที่ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

4. การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ของสื่อที่ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา
4.1 ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งได้รับอนุญาตโฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือการโฆษณาแต่เพียงภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าสื่อจะได้รับค่าจ้างตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
4.2 ผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งได้รับอนุญาตโฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือการโฆษณาที่ไม่ต้องขออนุญาต ได้แก่ การโฆษณาที่ไม่แสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพ หรือการโฆษณาที่แสดงแต่เพียงชื่อ ประเภทของอาหาร หรือภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าสื่อจะได้รับค่าจ้างตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
4.3 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จหรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นโดยพิจารณาจากคู่มือในภาคผนวก ข. เป็นแนวทาง ทั้งนี้ไม่ว่าสื่อจะได้รับค่าจ้างตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
4.4 การโฆษณา เสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจได้จัดเปิดตัวสินค้าใหม่เป็นครั้งแรก โดย
(1) ผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องมือแพทย์ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือแสดงให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์หรือคุณภาพ หรือได้ระบุแต่เพียงกลุ่มของยาและภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ สำหรับกรณีที่เป็นการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยานั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 90 ด้วย
(2) ผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือแสดงให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์หรือคุณภาพ หรือได้ระบุแต่เพียงชื่อและประเภทของอาหาร รวมถึงภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ
(3) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จหรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น
4.5 การโฆษณา เสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ซึ่งแสดงเฉพาะข้อความตามที่ระบุไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผู้ประกอบธุรกิจได้จัดทำขึ้น สำหรับกรณีที่เป็นการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยานั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 88 (4) (5) (6) และ (8) ด้วย
4.6 การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสมุนไพรตามที่กำหนดในข้อ 4.1 – 4.5
5. การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา
5.1 ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือการโฆษณาแต่เพียงภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ
5.2 ผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งได้รับอนุญาตให้โฆษณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือการโฆษณาที่ไม่ต้องขออนุญาต ได้แก่ การโฆษณาที่ไม่แสดงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพ หรือการโฆษณาที่แสดงแต่เพียงชื่อ ประเภทของอาหาร หรือภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ
5.3 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จหรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น โดยพิจารณาจากคู่มือในภาคผนวก ข. เป็นแนวทาง
5.4 การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้จัดเปิดตัวสินค้าใหม่เป็นครั้งแรก ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
(1) ผลิตภัณฑ์ยา และเครื่องมือแพทย์ ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือสื่อให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพ หรือได้ระบุแต่เพียงกลุ่มของยาและภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ สำหรับกรณีที่เป็นการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยานั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 90 ด้วย
(2) ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือสื่อให้เข้าใจได้ถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพด้วยแล้ว หรือได้ระบุแต่เพียงชื่อและประเภทของอาหาร รวมถึงภาพลักษณ์กิจการของผู้ประกอบธุรกิจ
(3) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่ไม่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จหรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้น
5.5 การโฆษณา เสนอข่าวและประชาสัมพันธ์ ซึ่งแสดงเฉพาะข้อความจากฉลากของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผู้ประกอบธุรกิจได้จัดทำขึ้น สำหรับกรณีที่เป็นการเสนอข่าวหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยานั้นจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 88 (4) (5) (6) และ (8) ด้วย

หมวด 3 การกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา

6. การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ของสื่อที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา
6.1 ผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ที่ไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาซึ่งสื่อได้รับค่าจ้างตอบแทนตามสัญญาว่าจ้าง หรือตามข้อตกลงตามประเพณีในธุรกิจ มีความผิดตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจ หรือบุคคลอื่นใดที่มีส่วนร่วมในการโฆษณา
6.2 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จ หรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
6.3 การโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่ารูปแบบหรือลักษณะใดที่สื่อได้รับค่าจ้างตอบแทนตามสัญญาว่าจ้าง หรือตามข้อตกลงตามประเพณีในทางธุรกิจ ซึ่งกระทำครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา
7. การโฆษณา เสนอข่าว และประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา
7.1 ผลิตภัณฑ์ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือใช้ข้อความหรือภาพนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต
7.2 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย ที่มีการกล่าวอ้างหรือโอ้อวดสรรพคุณ คุณประโยชน์ หรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นเท็จ หรือเกินจริง หรืออาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
7.3 กระทำการโฆษณาแฝงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่า รูปแบบหรือลักษณะใด ซึ่งกระทำครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการโฆษณา
นอกจากนี้หากท่านใดมีความประสงค์จะลงโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ รวมทั้งหากมีปัญหาเกี่ยวกับข้อความ หรือภาพข่าวที่จะลงโฆษณา สามารถตรวจสอบไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รายละเอียดดังนี้
……………………………………………..

รายชื่อเจ้าหน้าที่ที่เป็นศูนย์กลางการประสานงาน
เรื่องการสอบถามข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ
รายชื่อ
หน่วยงาน
โทรศัพท์
โทรสาร
ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์

ภญ.สิธยา สุมนานนท์
กองควบคุมเครื่องมือแพทย์
0-2590-7148
08-9679-3739
0-2591-8445
ภญ.คุณภร ตั้งจุฑาชัย
กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง
0-2590-7276
08-9815-2662
0-2591-8468

ภญ.พจนา ภูวนากิจจากร
กองควบคุมเครื่องมือแพทย์
0-2590-7148
08-1720-4312
0-2591-8445
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม
กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง
0-2590-7277-8
08-9205-3586
0-2591-8468
ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย
ภก.ชาญชัย วสุธาลัยนันท์
กองควบคุมเครื่องมือแพทย์
0-2590-7280
08-1123-2016
0-2591-8489
ผลิตภัณฑ์ยา ภก.วิบูลย์ เวชชัยชีวะ
กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย
0-2590-7304
08-9811-6867
0-2591-8489

ภญ.พนิตนาฏ คำนุ้ย
กองควบคุมยา
0-2590-7201
08-1563-9654
0-2591-8463
ผลิตภัณฑ์อาหาร

นางนภาพร กำภูพงษ์
กองควบคุมอาหาร
0-2590-7206
08-1986-6461
0-2590-7258
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

ภก.ศิริชัย ศุภรัตนเมธา
กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย
0-2590-7304
08-1278-5688
0-2591-8489

ภก.ชานุ หนุนพิทักษ์
กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย
0-2590-7304
08-1839-9440
0-2591-8489
สอบถามกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพ

จ.อ. สุวิทย์ วิจิตรโสภา
กลุ่มกฎหมายอาหารและยา
0-2590-7083
08-6973-1604
0-2590-7093