ECONOMIC FOCUS

by admin
570 views

“เสริมสร้างความรู้ อยู่แบบพอเพียง”

“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับพสกนิกรชาวไทยมานานกว่า 25 ปี ซึ่งแนวปรัชญาดังกล่าว ยังคงใช้ได้กับทุกยุคสมัย จนกระทั่งยุคโลกาภิวัฒน์ที่ข้อมูลข่าวสาร การค้าการลงทุน เชื่อมต่อถึงกันทั่วโลก ในปัจจุบันนี้

กิจกรรมเพื่อสังคมของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจในปีนี้ ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการ “เสริมสร้างความรู้ อยู่แบบพอเพียง” ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนในการปลูกฝังและเสริมสร้างความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้ทั้งคณะครูและเด็กนักเรียนได้มีความเข้าใจที่ตรงกันอย่างถูกต้อง และสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง และนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิต ประจำวัน
โครงการ ”เสริมสร้างความรู้ อยู่แบบพอเพียง” ได้เลือกโรงเรียนวัดปากสมุทร (ไวยวุฒิชนานุสรณ์) อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นโรงเรียนเป้าหมายนำร่องในการดำเนินกิจกรรม โดยโรงเรียนวัดปากสมุทรเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนประมาณ 400 คน
สำหรับเหตุผลที่เลือกโรงเรียนดังกล่าวนำร่องกิจกรรม เนื่องจากผู้บริหารของโรงเรียน ให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่สนองต่อความต้องการของชุมชนและสภาพท้องถิ่น โดยยึดแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2542 เพื่อต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนในชุมชน แต่การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณและองค์กรสนับสนุน
การเข้าไปให้การสนับสนุนโรงเรียนวัดปากสมุทรฯ ในครั้งนี้ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ทาง นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจคนปัจจุบัน วิมล ตัน ได้ร่วมวางนโยบายและกำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งตามแผนงานจะเริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2549 ไปจนถึงเดือนมกราคม 2550 โดยในช่วงแรกของการดำเนินงาน ทีมงานจะลงพื้นที่ทำความคุ้นเคยกับโรงเรียน และศึกษาถึงสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริง เพื่อนำไปสู้การร่วมกันคิดหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อไป โดยใช้หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นธงนำ
โดยในเบื้องต้น สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจมีแผนจะให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริที่ประสบผลสำเร็จให้แก่คณะครูและนักเรียน ก่อนที่จะร่วมกันกำหนดกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำภายในโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของทีมงานดำเนินโครงการฯ จะมีกลุ่มนักศึกษาปริญญาโท สาขาการบริหารและนโยบายสวัสดิการสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำงานร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
โครงการ ”เสริมสร้างความรู้อยู่แบบพอเพียง” ถือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจที่คาดหวังว่าจะเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ ด้วยมีการวางแผน มีเป้าหมาย และมีกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างชัดเจน และเมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีการร้อยเรียงเรื่องราวทั้งหมดและรวมเล่มเป็นหนังสือ เพื่อเป็นผลงานและแนวทางให้คณะกรรมการชุดต่อไปของสมาคมฯ และสมาชิกได้ทราบถึงความตั้งใจอันดี ที่จะช่วยเหลือสังคมของคณะกรรมการสมาคมฯ ชุดนี้
และที่สำคัญก็คือ กิจกรรมเพื่อสังคมครั้งนี้ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจเปิดโอกาสให้สมาชิกและผู้ที่สนใจสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่ต้น โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และหวังว่าเราคงจะมีโอกาสที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่สร้างสรรค์แบบนี้ร่วมกัน

Economic Focus

by admin
532 views

พยากรณ์เศรษฐกิจไทยปี “หมู” (เขี้ยวตัน)
วัดฝีมือรัฐบาลขิงแก่
โดย…หนึ่งหทัย อินทขันตี

“ประเทศไทยกำลังปรับทิศ” เป็นคำพูดของนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กล่าวภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ไม่นาน
การปรับทิศของประเทศไทย หมายถึงการหันมาเสริมสร้างพื้นฐานประเทศ ทั้งด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนอกประเทศหรือโลกาภิวัฒน์ ซึ่งประเทศไทยเคยได้รับบทเรียนครั้งสำคัญมาแล้วเมื่อวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

อย่างไรก็ตามตลอด 3-4 เดือนที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ บริหารประเทศมา ได้รับการวิภาควิจารณ์ว่าทำงานเชื่องช้าเกินไป ทั้งการแก้ปัญหาที่หมักหมมมาจากรัฐบาลก่อน และปัญหาใหม่ที่วิ่งเข้ามา โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังกัดกร่อนความเชื่อมั่นของนักลงทุน
สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่งเปิดเผยถึงคาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ว่า จะอยู่ที่ระดับ 4-5% ซึ่งเป็นอัตราชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจปีนี้ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 5%
สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากอัตราการขยายตัวของการส่งออก ที่จะชะลอลงเหลือเพียง 9%จากในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 16.8% โดยเป็นผลมาจากจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดดุลของสหรัฐฯ และการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ปัจจัยด้านการลงทุนภาคเอกชนในปีหน้า ก็อาจจะไม่ขยายตัวได้มากอย่างที่เคยคาดไว้ เนื่องจากนักลงทุนส่วนหนึ่งยังคงชะลอการตัดสินใจเพื่อรอดูความชัดเจนของรัฐบาลชุดต่อไป รวมทั้งการรอให้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติธุรกิจต่างด้าว ให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย
ขณะที่ปัจจัยราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย ที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ก็ไม่จูงใจให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากนัก ทั้งนี้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนปีหน้าจะขยายตัวได้ 7% ส่วนการลงทุนรวมจะขยายตัวได้ 6.2% จากปีนี้
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประมาณการเศรษฐกิจปี 2550 ว่า จะขยายตัวได้ 4.5-5.5%ปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.5-5%สาเหตุที่ทำให้คาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น มาจากการที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง
ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นการเบิกจ่ายของภาครัฐที่มากและเร็วขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จีดีพีปีหน้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าในปีหน้า การลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชนจะขยายตัว 8-9% ส่วนการบริโภคของรัฐและเอกชนขยายตัว 4-5% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีหน้าจะขยายตัว 1.5-3% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 1.5-2.5% ลดลงจากปีนี้ ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัว 4.25-4.75% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่คาดว่าจะขยายตัว 2-2.5%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในปีหน้า คือความเสี่ยงจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะปรับสูงขึ้นอีกหรือไม่ เพราะปัญหาด้านการเมืองในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังคงมีอยู่ ขณะที่การส่งออกก็จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น แต่ก็อาจจะกลายเป็นความเสี่ยงในอนาคต หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และทำให้แนวโน้มความเชื่อมั่นปรับลดลง
ส่วน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัว 4-5% โดยมีปัจจัยบวกมาจากการปรับขึ้นของการบริโภค และการลงทุน โดยคาดว่าการบริโภคจะขยายตัว 3.7-4.7%เป็นผลมาจากการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2550 ประกอบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและสถานการณ์การเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่การลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.6-6.6% เนื่องมาจากการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการจัดทำงบประมาณที่เร็วขึ้นและการลงทุนภาคเอกชนที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550จะปรับตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1-3.1 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตามด้านการส่งออกสินค้าและบริการในปีหน้าอาจจะขยายตัวได้ไม่ดีมากนัก จากการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอลงในปี2550 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2550 จะขยายตัว 9.2-11.2%
ส่วน ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2550 จะยังคงเกินดุลที่ร้อยละ 0.3-2.3 ของ GDP เนื่องจากการเกินดุลบริการ โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว
เมื่อไปดู ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวในอัตรา 4.6% ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวที่ 4.5% ในปีนี้ โดยปัจจัยบวกมาจากการบริโภคที่น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ปรับลดลง และการลงทุนของภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายในปีหน้า
อย่างไรก็ตามการขยายตัวของการลงทุนในปีหน้า ก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นรวมถึงยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ
ขณะเดียวกันในส่วนของภาคการส่งออกในปีหน้า ก็คาดว่าจะชะลอตัวลงโดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกที่แท้จริง(Real Export) จะขยายตัว 6% หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก ณ ราคาปัจจุบันขยายตัว 11%โดยเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทและการไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจีเอสพีกับสหรัฐฯเหมือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้คาดว่าดุลการค้าของไทยในปีหน้าจะขาดดุล 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2% ของจีดีพี ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะเกินดุลประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจีดีพีปีหน้าจะขยายตัวได้ประมาณ 4-5% จากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 4.7-4.9% โดยมีปัจจัยบวกมาจากการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย และการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐและการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล โดยคาดว่าการลงทุนของไทยในปีหน้าจะขยายตัวประมาณ 4-.52%ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5-3.5% ลดลงจากปีนี้ที่เงินเฟ้ออยู่ที่4.7%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีหน้ามาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีหน้าขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง โดยคาดว่าจะขยายตัว10-15% ชะลอลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 17% ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกนี้ยังอาจจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้าทำให้รายได้เกษตรกรลดลงด้วย
สุดท้าย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีปี 2550 ที่ 4.7%เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ขยายตัวประมาณ 4.5%โดยแนวโน้มดีขึ้นเนื่องจากเสถียรภาพการเมืองดีขึ้น ซึ่งจะมีผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการใช้งบประมาณขาดดุลจะช่วยให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีเงินหมุนเวียนมากขึ้นแ ละการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยด้วย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และระดับราคาน้ำมันโลกที่อาจจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกของไทย
การพยาการณ์เศรษฐกิจของไทยในปีหมู มีความแตกต่างกันไป บางสำนักบอกว่าการขยายตัวของจีดีพีชะลอตัวลง บางสำนักบอกว่าขยายตัวขึ้น แต่ทุกสำนักก็ระบุตรงกันว่า ความเสี่ยงอยู่ที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศเอง ดังนั้นการเศรษฐกิจไทยปีหมู จะไม่ใช้เรื่องหมูๆแน่นอน หากรัฐบาลไม่สามารถบริหารความเสี่ยงทั้งสองประเด็นข้างต้นได้

Economic Focus

by admin
521 views

บทความ ระเบิด 2 ลูกกระแทกต่อเศรษฐกิจไทย
โดย…สุพรรณี จิวจรัสรงค์

เมื่อเย็นของวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ด้วยวิธีดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น โดยกำหนดให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้จำนวน 30% ของเงินตราต่างประเทศ มาตรการดังกล่าว ในทางปฏิบัติไม่ต่างจากการเก็บภาษีเงินทุนระยะสั้น ซึ่งเคยเป็นมาตรการที่ประเทศแถบละตินอเมริกาและมาเลเซียได้เคยใช้มาก่อนหน้านี้ ทำให้ต่างชาติทยอยถอนการลงทุน ถือได้ว่าเป็นมาตรการทิ้งระเบิดลูกใหญ่จากทางการที่เข้าซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย

หลังธปท.ประกาศมาตรการดังกล่าวเพียง 1 วันทำการ ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงกราวรูดกว่า 108 จุด มูลค่าตลาดรวมในตลาดหุ้นไทยหายไปในพริบตากว่า 8แสนล้านบาท และ แม้กระทรวงการคลัง โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี จะออกมาแถลงผ่อนปรนมาตรการแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ตลาดหุ้นดีขึ้นนัก เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลังออกบทวิเคราะห์ทันที ระบุว่า ถือเป็นมาตรการที่กระทบน่าเชื่อถือในเศรษฐกิจประเทศ และควรเป็นมาตรการที่ใช้ในระยะสั้น เนื่องจากมาตรการนี้ขัดกับหลักการไหลเวียนของเงินทุนเสรี ทำให้นักลงทุนต่างประเทศขาดความมั่นใจในการลงทุนในประเทศที่มีการควบคุมเงินทุน
ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2549 ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐได้ปรับแข็งค่าขึ้นถึง 14% นับจากต้นปี 2549 เป็นการแข็งค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับค่าเงิน 11 ประเทศคู่ค้าหลัก ธปท.เกรงว่าจะกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่ มาตรการต่างๆที่ธปท.นำมาใช้ก่อนหน้านี้เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเท่านั้น เช่น มาตรการควบคุมธุรกรรมเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ มาตรการผ่อนคลายให้ผู้มีรายได้เงินตราต่างประเทศมีสิทธิในการถือครองเงินตราต่างประเทศนานขึ้น รวมถึง การนำเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทนั้น ไม่ได้ช่วยให้เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐสามารถปรับค่าอ่อนลงได้ ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าและยืนอยู่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ธปท.ได้เข้าแทรกแซงโดยใช้ทุนสำรองไปนับแสนล้านบาท จนกระทั่งต้องนำมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าวออกมาใช้
“ผมยืนยันว่า มาตรการกันสำรอง30%ของเงินทุนต่างประเทศได้ผลน่าพอใจ เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก เป็นภาคที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจาก เป็นภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง มีผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศ รวมทั้ง ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หากไม่ดำเนินมาตรการเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ย้ำว่า มาตรการ 30% ของธปท. ถือเป็นมาตรการที่ต้องการรักษาภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ นั้นคือภาคส่งออก ถ้าภาคเศรษฐกิจแท้จริงของประเทศมีอันเป็นไป ในที่สุดจะส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในที่สุด
“ในอนาคตพวกคุณจะต้องขอบคุณ คุณธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย) ที่ใช้มาตรการนี้ เพื่อรักษาภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
แรงกระแทกต่อระบบเศรษฐกิจยังไม่หายไปจากมาตรการระเบิดลูกแรก ระเบิดของจริงก็เกิดขึ้นกลางกรุงเทพมหานครกลางดึกของคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คือ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 นอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย และ บาดเจ็บ 42 ราย และ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินสาธารณะ ยังมีผลกระทบต่อจิตวิทยาการบริโภคและความเชื่อมั่นในการลงทุน เพราะจำนวนระเบิดถึง 8 ลูกเกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันบริเวณในกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงและมีประชากรอาศัยจำนวนมาก
แน่นอนระยะสั้น ทำให้ประชาชนไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย หากไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้ ย่อมมีผลกระทบต่อการลงทุนระยะยาว และถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่สามารถวางมาตรการป้องกันอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้
หลังเกิดเหตุไม่กี่วัน รัฐบาล โดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังตัวในการดำรงชีวิต เพราะยังมีความไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับการรอบวางระเบิดอีกอย่างน้อย 2 เดือนนับจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และ ถือเป็นความโชคดีของเศรษฐกิจไทย และ เด็กไทย ที่ไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นในวันเด็กที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ช่วงนั้น รัฐบาลได้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหาร เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีผู้นำคณะปฏิวัติอย่างพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เข้าร่วมงานวันเด็ก เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ถือว่า ช่วยได้มากในสถานการณ์ขณะนั้น ทำให้ประชาชนเริ่มคลายความกังวล ออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
หลายหน่วยงานวิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงเทพมหานครดังกล่าวต่อเศรษฐกิจจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นและความยืดเยื้อของสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อนับรวมปัญหาที่ค้างคา โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ คือ ปัญหาความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมาหลายปี หลายรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลต่อปัญหาความเชื่อมั่นในสถานการณ์การเมืองต่อเนื่องเมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และหลายปัญหาที่ถั่งโถมเข้ามาหลายด้าน โดยเฉพาะจากภายนอก แม้ปัญหาราคาน้ำมันที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงที่ผ่านมาจะคลี่คลายลง แต่การเติบโตที่ลดลงของเศรษฐกิจโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่กว่า 60%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมยังต้องพึ่งพาการส่งออก ฉะนั้น ก็หวังว่าแรงระเบิดจากมาตรการ 30% ที่ธปท.ประกาศออกมาคงจะส่วนช่วยหนุนให้ไทยสามารถพึ่งพาการส่งออกได้ตามที่หวัง

Economic Focus

by admin
453 views

6 เดือนผ่านไป…ยังหวังอะไรไม่ได้กับ…
ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ” ฤาษีเลี้ยงเต่า “…
โดย อนันตเดช พงษ์พันธ์

นับย้อนหลังไป 6 เดือนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มีการกระทำการยึดอำนาจเพื่อล้มล้างรัฐบาลทักษิณและเพื่อเป็นการหาทางออกทางการเมืองที่กำลังอึมครึมอย่างหนัก ทั้งประชาชนทั่วไปรวมทั้งนักธุรกิจทั้งหลาย ก็ต่างโห่ร้องยินดีว่าต่อไปนี้จะได้เริ่มต้นเดินหน้าเสียที และพลันที่รัฐบาลประกาศตัวหัวหน้าและลูกทีมเศรษฐกิจออกมา นักลงทุนทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน ภาคการผลิต การค้า ต่างก็ให้เสียงตอบรับที่ดี

แต่วันนั้นมาถึงวันนี้ 6 เดือนผ่านไปทีมเศรษฐกิจที่ชาวประชาตั้งความหวังกลับทำอะไรไม่ได้เลย…ที่เป็นชิ้นเป็นอันสำหรับงานด้านเศรษฐกิจ ไม่ต้องนับรวมงานด้านอื่นๆ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง แม้กระทั่งภาระการจับโจรปล้นแผ่นดิน ที่ผลงานออกมาตอนนี้ต้องบอกว่า…สอบตก กลับมาที่งานด้านเศรษฐกิจที่บอกว่าไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะ 1-2 เดือนแรก หัวหน้าทีมเศรษฐกิจกลับมัวไปยุ่งอยู่เรื่องหวย 2-3 ตัว ซึ่งมันไม่ใช่งานเร่งด่วนที่จะทำเลยในตอนนั้น…เรื่องหวยเงียบไปพักหนึ่งมาเจอเรื่องเงินบาทแข็งอีก คลังว่าไปทาง ลูกมือคนสำคัญอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทยว่าไปทาง มะรุมมะตุ้มอยู่กับค่าเงินบาทอยู่ตั้งพักใหญ่ สุดท้ายยาแรงๆ ที่ออกมาใช้ก็ไม่ได้ผลอะไรเลย…ซ้ำร้ายอยู่มาอีกไม่นานหัวหน้าทีมเศรษฐกิจกลับถอดใจโบกมือลาเอาดื้อๆ…ทำเอาภาคธุรกิจปั่นป่วนกันไปพักหนึ่ง…
หันมาที่ลูกทีมคนแรกคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผ่านมา 6 เดือนก็ยังวุ่นอยู่กับเรื่องการแก้ปัญหานอมินีและกฎหมายค้าปลีก ซึ่งผ่านมาแล้ว 6 เดือนก็ไม่มีอะไรคืบซักกะอย่าง ส่วนลูกทีมเศรษฐกิจคนที่สองคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ช่วง 3-4 เดือนแรกก็ไม่ต้องถามว่าทำอะไร… นอกจากไล่รื้อไล่ยุบโครงการเก่าๆ เช่นกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น…ส่วนงานเก่าที่ควรจะเดินหน้าอย่าง ” อีโคคาร์ ” ก็ยึกยักๆอยู่นั่นแหละไม่เข้าท่าเข้าทางซักกะที…จนกระทั่งส้มหล่นลงหลังคาบ้านให้ขึ้นมานั่งตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเสียเอง เรื่อง ” อีโคคาร์ ” ก็ยังไปไม่ถึงไหน
ถ้าถามว่าจะหวังอะไรในฝีมือของทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลชุด ” ขิงแก่ ” ที่ตอนนี้มีฉายาใหม่ (ที่เข้าท่ากว่า) ว่ารัฐบาลฤาษี ” เลี้ยงเต่า ” ได้แค่ไหน…คำตอบคงเห็นๆ กันอยู่แล้ว…ที่ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค…ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม…ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ…พาเหรดกันทำสถิติติดลบ (นิวโลว์)…แม้แต่ภาครัฐเองที่รู้กันว่าค่อนข้างจะมองโลกในแง่บวกก็ยังออกมายอมรับว่า…อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ…หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)…และรายได้ที่จะเก็บเข้าคลังจะต้องลดลง…ไม่นับรวมตัวเลขด้านการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ปีนี้อาจจะขยายตัวแค่ 8-9% จากที่เคยขยายตัวมากกว่า 10% เนื่องจากเผชิญปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท…ไม่นับรวมตัวเลขการท่องเที่ยวที่ลดฮวบๆ เพราะปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ…ที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจของทหาร
งานด้านการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจไทยที่เห็นเด่นชัดที่สุดในรอบ 6 เดือนของทีมเศรษฐกิจชุดนี้ก็มีเพียงไม่กี่เรื่อง เรื่องแรกคือการกดดันให้แบงก์ชาติพยายามลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงตามมา ทำให้ภาคเอกชนกล้าที่จะลงทุน และภาคประชาชนกล้าที่จะบริโภคมากขึ้น ซึ่งก็คาดกันว่าตลอดอายุรัฐบาลนี้คงจะลดดอกเบี้ยลงมาได้ประมาณ 1% แต่เท่าที่ดูตอนนี้แม้ว่าดอกเบี้ยจะลดลงมาแล้ว 3 ระลอก (0.75%)…แต่ก็ยังไม่เห็นผลอะไรเลย ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ยังนั่งคอตก…แบงก์เองก็นั่งตัวสั่นเพราะลูกค้าที่เคยดีๆ กำลังทำท่าว่าจะเป็นหนี้เน่า…ตลาดหุ้นไม่ต้องพูดถึง ต้วมเตี้ยมอย่างกับหอยทากเมายาเส้น…
ส่วนผลงานชิ้นที่สองที่เห็นกำลังขะมักเขม้นกันอยู่ก็คือเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า…ด้วยการเรียกแบงก์ เฉพาะกิจและสถาบันการเงินของรัฐรวม 9 แห่งให้เข้ามารับนโยบาย ช่วยปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนและธุรกิจในระดับรากหญ้ารวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)…เพราะหวังอย่างน้อยๆ จะมีเม็ดเงินไหลเข้าระบบกว่า 3 หมื่นล้านบาท มาถึงขั้นนี้ก็บอกว่ารัฐบาลขิงแก่ที่พร่ำบนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด ต้องยอมบากหน้าหันมาใช้นโยบายประชานิยมเหมือนกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก่นด่าว่าการบริหารประเทศแบบเงินฟาดหัวมันน่ารังเกียจเสียนี่กระไร…
แต่ว่าพอเอาเข้าจริงก็เกรงว่าแผนการบีบคอแบงก์รัฐมาช่วยกันระดมเงินใส่เข้าระบบก็ทำท่าว่าจะไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่…แบงก์รัฐแต่ละแห่งอาการก็ไม่ค่อยดี…อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็อาการย่ำแย่ แผลยังกลัดหนองอีกหลายแผล ซึ่งล้วนเป็นงานที่ต้องทำตามคำสั่งรัฐบาลทั้งนั้น แบมือขอเงินเพิ่มทุนจากรัฐ กระทรวงการคลังก็ยังเกี่ยงๆ (เพราะไม่มีเงิน) ส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME BANK) แม้เต็มใจรับคำสั่งแต่สภาพของแบงก์ก็ง่อนแง่นโอนเอนเต็มทน…เพราะหนี้เน่าท่วมท้นจนแบงก์ชาติจ้องตาเป็นมัน…ขณะที่ธนาคารออมสินแม้จะแข็งแรง มีกำไรตั้งเยอะแต่จะผลีผลามไปเดี๋ยวก็จะโดนด่าว่าเอาเงินเด็กมาละลาย…ขนาดว่าที่ผ่านมามีหนี้เน่าแค่ 5-6% แบงก์ออมสินยังโดนกระหน่ำเสียงอมพระราม…หันไปที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายการจัดตั้ง นอกจากปล่อยกู้ซื้อบ้านแล้วอย่างอื่นก็ทำได้แค่ปล่อยสินเชื่อเพื่อตกแต่ง ซ่อมแซมบ้าน…และเท่าที่ดูลูกค้าธอส.ไม่ใช่พวกรากหญ้าเลยซักกะนิด…สรุปว่าไม่ตรงคอนเซ็ปต์ปลุกเศรษฐกิจรากหญ้า
ส่วนแบงก์พาณิชย์ที่หน่วยงานของรัฐถือหุ้นใหญ่…ทั้งกรุงไทย ทหารไทย, นครหลวงไทย, ไทยธนาคาร…ก็จะทำอะไรก็ได้ตามรัฐบาลสั่งการคงไม่ได้…เพราะมีกฎกติกาของกฎหมายว่าด้วยบริษัทจดทะเบียน กฎหมายธนาคารพาณิชย์ และกติกาของแบงก์ชาติกำกับอยู่อย่างเข้มงวด ซ้ำยิ่งโดนมาตรฐานบัญชีใหม่เข้าไปแบบนี้ด้วยแล้ว บอกได้คำเดียวว่ายากส์…
สรุปแล้วแผนการใช้แบงก์รัฐมาปลุกเศรษฐกิจรากหญ้า…ก็คงเข้ารกเข้าพงไม่เป็นท่าเหมือนเดิม…ครั้นจะหันมาหาการจับจ่ายใช้สอยเงินทองของภาครัฐ…ก็ดูจะไม่มีหวัง…แต่ละโครงการก่อสร้าง เช่น รถไฟฟ้า 5 สายก็เถียงกันไม่จบ…ส่วนงานโครงการก่อสร้างอื่นๆ ก็นิ่งๆ เนิบๆ…เพราะคนทำงานเกร็งไปหมด…เพราะทั้ง…คตส…สตง…ป.ป.ช…คอยจ้องจะชี้ด่าว่าโกงอยู่เรื่อย…ซ้ำร้ายกว่านั้นรายได้จากภาษีและเงินนำส่งรัฐของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2550 (งวด 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ ก็เก็บรายได้พลาดเป้าไปถึง 2.3 พันล้านบาท) จะควักจะจ่ายอะไรก็คงไม่คล่องมือเสียเท่าไหร่นัก…
และที่น่าสนใจคือเสียงสะท้อนของภาคเอกชน ที่พอจะจับใจความได้ว่านอกจากรัฐบาลจะไม่พยายามบริหารงานด้านเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลยังมีส่วนสำคัญในการทำลายธุรกิจด้วย อย่างกรณี ของ ธุรกิจส่งออกอาหารแช่แข็ง ได้รับความลำบากจากข้อตกลงเอฟทีเอ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดเรื่องเงินทุน และศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาด
” ยังไม่คาดหวังระยะสั้นในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาทางการเมืองเป็นหลัก ไม่มีมาตรการส่งเสริมการส่งออกทั้งที่ภาคการส่งออกมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ” นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท รูบิคอน จำกัด
” รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามาแก้ปัญหาจากรัฐบาลชุดก่อนที่ทำไว้ เอกชนต้องช่วยตัวเองก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ” นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง
” ขณะนี้ได้ชะลอแผนขยายพื้นที่คลังสินค้าออกไปก่อน ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยอมรับว่าเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคของผู้บริโภค ” นายพูนศักดิ์ เธียรไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีเทอร์นิตี้ แกรนด์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)
” ตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะซึมเซาตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากปัจจัยลบหลายๆ ด้าน ทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง หลายบริษัทต้องทุ่มรายการส่งเสริมการขายเพิ่มโปรโมชั่น ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนด้านกำไรลดลง ภาวะการณ์แบบนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนได้เปรียบกว่ารายเล็กที่ขณะนี้ต้องเผชิญกับปัญหาสถาบันการเงินไม่ปล่อยเงินกู้ให้โครงการ และตอนนี้ในระยะสั้นต้องจับตาดูเรื่องราคาน้ำมัน หากขึ้นราคาตลาดอสังหาฯจะชะงักงัน ” นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้
จากเสียงสะท้อนของภาคเอกชนที่ออกมาแบบนี้…ถ้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลทำได้เท่านี้…ไร้ฝีมือในการบริหารด้านเศรษฐกิจแบบนี้…แถมยังมีเรื่องความรุนแรงทางการเมืองและปัญหาความมั่นคงแบบนี้…ก็สรุปเลยว่าปีนี้เป็นปีเผาจริงของเศรษฐกิจไทย…

Economic Focus

by admin
405 views

จับชีพจรอสังหาฯไทย
โดย…นิธิดา อัศวนิพนธ์

ไตรมาสแรกของปีนี้ มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องหยุดก่อสร้างทั้งหมด 100 โครงการ คิดเป็นมูลค่าสองหมื่นล้านบาท ข้อมูลโดยผลสำรวจของบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟคต์นี้แสดงให้เห็นถึงยุคตกต่ำ ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยอีกครั้ง

หลังจากความรุ่งเรืองในช่วงสองปีที่ผ่านมาโดยโครงการที่หยุดก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นโครงการของกลุ่มผู้ประกอบการระดับกลางถึงเล็กซึ่งมีมูลค่าโครงการตั้งแต่ 100 ล้านบาท จนถึง 500 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมผู้ประกอบการรายใหญ่บางราย อย่างเช่นโอเชียนพร็อพเพอร์ตี้ที่ประกาศชะลอโครงการทั้งหมด 5 โครงการในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึงห้าพันล้านบาท และโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ลูกค้าจองแล้วทิ้งไปกว่าสามหมื่นหน่วยใน 54 โครงการ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสอง
สิ่งที่สะท้อนสภาพตลาดได้ดีที่สุดคือผลประกอบการในไตรมาสแรกของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เจ้าตลาดอย่างแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เห็นกำไรลดลงถึงร้อยละ 25.6 จาก 712.7 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 530 ล้านบาท แม้แต่เจ้าแห่งการเติบโตอย่างพฤกษาก็เผชิญกับการลดลงของผลประกอบการเช่นเดียวกัน
ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองและภาวะเศรษฐกิจปีนี้คือความกังวลของผู้บริโภค เพราะไม่มั่นใจว่าภาวะแบบนี้จะทำให้เกิดอะไรที่อาจส่งผลต่อรายได้หรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้กลายเป็นสัญญาณต่อผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ว่า อาจต้องเผชิญ กับการลดลงของรายได้ 5 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
จะว่าไปแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องของวงการอสังหาฯเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นๆ หลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง กระเบื้อง สุขภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ออกแบบภายนอกและภายใน ธุรกิจให้กู้เงินของสถาบันการเงินต่างๆ ฯลฯ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างมากมาย และหลายธุรกิจนั้นก็เริ่มส่อเค้าไม่ดีแล้ว จนเจ้าของธุรกิจต้องมานั่งคิดหาทิศทางธุรกิจใหม่
จริงๆ แล้ว การชะลอตัวของตลาดอสังหาฯเริ่มส่อเค้าตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ระยะหนึ่ง เพราะสถานการณ์การเมืองที่ดูเหมือนจะดีขึ้น กลับไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็นสักเท่าไหร่ อีกทั้งรัฐบาลก็เป็นแค่รัฐบาลชั่วคราวแค่หนึ่งปีเท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ยิ่งไม่อยากใช้เงินจนกว่าจะมีรัฐบาลตัวจริงที่สามารถกำหนดนโยบายต่อเนื่องได้ ความต้องการที่ลดลงส่งผลต่อโครงการต่างๆ ให้เผชิญกับสินค้าค้างสต๊อก โดยเฉพาะที่พักอาศัยระดับกลางที่ค่อนไประดับบน ผลสำรวจของ Raimon Land’s Condominium Focus โดย บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายเดือนมีนาคมพบว่า แค่เฉพาะในกรุงเทพฯมีคอนโดฯค้างสต๊อกอยู่ถึง 5,037 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าถึง 3.74 หมื่นล้านบาท จากปลายปีที่แล้ว
สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการยาพยามดิ้นรนก็คือ การออกมาขอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ซึ่ง นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและที่ปรึกษารัฐมนตรีก็รับลูกโดยเสนอ นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้พิจารณาลดภาษีธุรกิจเฉพาะอสังหาฯจาก 3.3 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์ ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 1 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มค่าหักลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยเงินกู้จาก 5 หมื่นบาท เป็น 7 หมื่นบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้งหมดนี้ใช่ว่าจะสนองความต้องการของทั้งภาคเอกชนและเป็นที่พึงใจของภาครัฐบาลจริงๆ เพราะรัฐบาลก็หวั่นว่าหากสามมาตรการนี้ใช้จริงก็อาจกระทบกับรายได้จากภาษีทั้งระบบ ขณะเดียวกัน ถึงแม้สองข้อเสนอหลังดูเหมือนจะดูดี แต่เอกชนบางรายก็ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลมาลดภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะการแก้ไขสถานการณ์ขณะนี้ ควรต้องกระตุ้นด้วยการสร้างแรงจูงใจ สร้างอารมณ์การใช้เงินกับ ผู้ซื้อมากกว่า ปัญหาตอนนี้ก็คือผู้บริโภคมีเงิน แต่ไม่อยากใช้ ข้อเรียกร้องหนึ่งที่ภาคเอกชนต้องการจริงๆ แต่กระทรวงการคลังกลับยืนยันที่จะไม่เอาด้วยคือ การขอให้ลดค่าธรรมเนียม การโอนบ้าน 2 เปอร์เซ็นต์ โดยให้เหตุผลว่าจะกระทบต่อรายได้ของท้องถิ่น
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่บริษัทอสังหาฯต้องการจริงๆ ก็คือการออกมาตรการกระตุ้นการเติบโตภาวะเศรษฐกิจโดยรวมให้เติบโตเกินห้าเปอร์เซ็นต์ เพราะนั่นจะทำให้คนมีความมั่นใจต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจมากพอที่จะใช้เงินจริงๆ
อย่างไรก็ตามในระหว่างที่รอมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาล ภาคเอกชนก็พยามรักษาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยโดยออกแคมเปญต่างๆ ซึ่งทำให้การต่อสู้เป็นไปอย่างเข้มข้นมาก ทั้งข้อเสนอที่จะจ่ายค่าโอนบ้าน ค่าจดจำนอง แทนคนซื้อ หรือการตัดราคา ซึ่งในทางการตลาดแล้ว การตัดราคาอาจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายทั้งในแง่ของผลประกอบการและการสร้างแบรนด์ นอกจากนั้นแล้ว การต่อสู้นี้ยังส่งผลให้ผู้บริโภคยิ่งชะลอการซื้อนานขึ้นอีก เพื่อต่อรองให้ได้ข้อเสนอที่ดีกว่า ทางด้านบ้านเอื้ออาทรเองก็จะเปิดสายด่วนซื้อแล้วอยู่ได้เลย ทั้งนี้จุดประสงค์หลักดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อล้างสต๊อกออกให้หมด
ท่ามกลางความมืดมนของภาวะอสังหาฯ ผู้ประกอบการก็ยังมีภาคสถาบันการเงินที่เป็นเหมือนเพื่อนที่พยายามอย่างหนักที่จะช่วยกระตุ้น โดยการพากันออกมาลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วเป็นไปเพื่อความอยู่รอดของธนาคารหรือสถาบันการเงินเองด้วย เนื่องจากรายได้จากการจ่ายหนี้ตรงนี้เป็นหนึ่งในฐานรายได้หลัก
ธนาคารและสถาบันการเงินต่างแข่งขันกันเสนอเงื่อนไขเงินกู้พิเศษซึ่งออกแนวดุเดือดพอๆ กับการแข่งขันระหว่างบริษัทอสังหาฯ เห็นได้ชัดจากงาน Money Expo 2007 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์สิริกิต์ระหว่างวันที่ 10 ถึง 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งข้อเสนอดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านถือเป็นพระเอกของงาน ข้อเสนอมีทั้งลดดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ลดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในช่วงแรกของการกู้ ให้เงินกู้ดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสามเดือนแรก ให้อยู่บ้านฟรีโดยปลอดการผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยโดยไม่ต้องวางเงินดาวน์ใน 100 วันแรก
ดอกเบี้ยเงินกู้รวมทั้งเงื่อนไขพิเศษต่างๆ เหล่านี้ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยบวกเดียวของธุรกิจอสังหาฯ และสำหรับผู้บริหารของบริษัทรายใหญ่อย่างแลนด์แอนด์เฮ้าส์แล้ว การลดดอกเบี้ย 1 เปอร์เซนต์สามารถเพิ่มกำลังซื้อได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวเมื่อเทียบกับมาตรการทางภาษีที่รัฐบาลดูอยู่ ซึ่งมีผลน้อยกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการอีกหลายรายแล้ว ก็ยังมองว่าถึงแม้ดอกเบี้ยจะลด แต่ผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงจะชะลอการตัดสินใจซื้ออยู่ดี ดังนั้นหนทางหนึ่งที่จะกระจายความเสี่ยงก็คือการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติระดับบน ซึ่งยังคงมีกำลังซื้ออยู่และกำลังได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็ง และถึงแม้จะเจอมาตรการกันเงินทุนสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็มั่นใจว่าผู้ซื้อต่างชาติเหล่านั้นสามารถดูแลวิธีซื้ออสังหาฯโดยไม่ผิดกฏกันทุนเงินสำรองฯได้ ผู้ประกอบการหลายเจ้าอย่างเช่น โอเชียนพร็อพเพอร์ตี้ ไรมอนแลนด์ แสนสิริ และชาญอิสสระดีเวลอปเมนท์ พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมสไตล์ รีสอร์ตตามจังหวัดที่เป็นแหล่งที่พักตากอากาศ เช่น พัทยา หัวหิน จอมเทียน สมุย ภูเก็ต ทั้งนี้บางโครงการยังดึงดูดผู้ซื้อต่างชาติโดยออกแคมเปญที่ทำให้ผู้ซื้อเหล่านี้สามารถย้ายเข้ามาอยู่ได้เร็วกว่าขั้นตอนปกติ
แต่ถึงแม้ตลาดอสังหาฯจะแย่ ก็ใช่ว่าจะทำให้ผู้ประกอบการทุกเจ้าหยุดนิ่งอยู่กับที่ หลายเจ้ายังคงมั่นใจที่จะลงทุนต่อไปเนื่องจากมองว่าสถานการณ์ช่วงนี้จะเป็นแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จำนวนโครงการใหม่ที่ประกาศออกมาแล้วแน่ๆ มีทั้งหมดสิบห้าโครงการ มูลค่ากว่าหนึ่งหมื่นล้าน ประกอบด้วยสิบโครงการ ใหม่ ของพลัสพร็อพเพอร์ตี้ มูลค่าห้าพันล้าน เจาะกลุ่มตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับหรู และห้าโครงการใหม่ของปริญสิริ มูลค่าห้าพันหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งมีทั้งคอนโดฯ และบ้านเดี่ยว ทั้งนี้ พลัสพร็อพเพอร์ตี้ยังประกาศด้วยว่าจะลงทุนอีกหนึ่งพันล้านบาทซื้อที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการใหม่ปีหน้า
ความมั่นใจของผู้ประกอบการเหล่านี้จะเห็นได้ว่า จริงๆแล้วสถานการณ์ขาลงของตลาดอสังหาฯในตอนนี้ไม่ได้ย่ำแย่ถึงกับจะไม่มีอนาคตเลย อย่างน้อยก็ไม่ได้ตกต่ำถึงกับที่เผชิญกันในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ถ้าพิจารณากันให้ดีจะเห็นว่า ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่สินค้าล้นตลาด เห็นได้จากที่หลายพื้นที่ยังมีการพัฒนาโครงการอสังหาฯน้อย และยังมีโอกาสทางการตลาดอยู่ ปัญหาเดียวที่มีอยู่ขณะนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ เพื่อจะได้มีอารมณ์อยากใช้เงิน และผู้ที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นรัฐบาล ว่าจะออกมาตรการอะไรบ้างเพื่อมาช่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคอยากเห็นก็คือการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะสามารถออกนโยบายที่ทำได้ในระยะยาวและต่อเนื่อง และสามารถสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง…

Economic Focus

by admin
436 views

เรื่องโดย…….นิธิดา อัศวนิพนธ์
ต่างจังหวะ…หลากลีลา… คอนซูเมอร์โปรดักต์… ยุคลูกค้าไม่ค่อยกล้าควักกระเป๋า
และแล้วการเมืองไทยก็ตื่นตูมตามอีกครั้งหลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐเขย่าบรรยากาศทางการเมืองด้วยการออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และบุตร ที่ฝากอยู่กับทุกธนาคารและทุกสถาบันการเงินรวมเป็นเงินถึง 52,884 ล้านบาท ในวันที่ 11 มิถุนายน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและเทศที่ทำท่าว่าจะดีขึ้นหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินชี้ขาดชะตาพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมก็มีอันต้องสั่นคลอนอีกครั้ง ส่วนผู้บริโภคนั้น ความเชื่อมั่นที่ดิ่งลงอยู่แล้วตั้งแต่ต้นปีก็ปักหัวลงแรงเข้าไปอีก ล่าสุดสภาหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคว่าได้ลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบห้าปีสี่เดือนไปอยู่ที่ 76.4 จุดแล้ว ซึ่งนี่ถือเป็นข่าวร้ายอย่างจังสำหรับนักธุรกิจทั้งหลายทั้งที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคและของหรู

เหตุการณ์ความไม่สงบที่เริ่มมีอยู่บ้างแล้วนำโดยแกนนำม็อบพีทีวีผสมโรงกับแนวร่วม 33 องค์กรต่อต้านรัฐประหารจัดตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ขึ้นเวทีขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยรวมกับกลุ่มไทยรักไทยซึ่งประกอบด้วยอดีต ส.ส. 60 คนในสังกัดไทยรักไทย ระดมพลคนที่ร่วมอุดมการณ์เฉียดแสนคนชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และมีการเคลื่อนพลไปที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบกเพื่อกดดันถึงที่ รวมทั้งประกาศกร้าวยื่นคำขาดให้คมช. ลาออกภายในเจ็ดวันภายใน 24 มิถุนายน ทั้งนี้ มีการแจกใบปลิว ขับไล่ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และประธาน คมช.และผู้บัญชาการทหารบก พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ในการชุมนุมนั้น หัวข้อหลักที่ว่าก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ขับไล่ คมช.ด้วย แต่ยังรวมถึงประท้วงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และเอาคุณทักษิณกลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง
แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่สร้างความหวั่นไหวให้กับหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนและนักลงทุนคือความเป็นไปได้ที่คุณทักษิณจะกลับไทยเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก นอมินี การปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัท เอสซี แอสเสท การซื้อที่ดินรัชดากับทั้ง คตส.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าการกลับมาของคุณทักษิณอาจส่งให้ความขัดแย้งของประชาชนยิ่งบานปลายจนถึงขั้นควบคุมไม่ได้ถึงแม้ว่าคุณทักษิณประกาศจะวางมือทางเมืองแล้วก็ตาม เห็นได้จากแค่วันที่ นปก.ประกาศว่าคุณทักษิณจะร่วมพูดคุยระหว่างชุมนุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ รัฐบาลก็เตรียมตั้งรับอย่างดี ดูแล้วดูอีกว่าจะยอมให้เปิดวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ได้ ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเพียงการเปิดวีซีดีที่คุณทักษินอัดไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น
ย้อนไปเมื่อวันที่มีการตัดสินอนาคตทางการเมืองของนักการเมืองทั้งหลาย ซึ่งเป็นวันที่มีทั้งบรรยากาศสุขสุดๆ และโศกสุดๆ จากผู้ที่รอดตายและคนที่ตายสนิท 111 คน (อย่างน้อยก็ในช่วงห้าปีนี้) ภาคเอกชนทั้งหลายต่างรู้สึกโล่งไปเปลาะหนึ่ง เพราะอย่างน้อยภาพการเมืองที่อึมครึมมาแรมปีก็ชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว เหลือแค่ต้องลุ้นต่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้รับการลงมติหรือไม่เท่านั้น ซึ่งถ้าผ่านความหวังที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้งก็จะฉลุย
ณ ตอนนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ยังออกผลสำรวจตามมาติดๆ ว่าความเชื่อมั่นของภาคเอกชนดีขึ้นและเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกด้วยซ้ำ โดยในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจขยายตัว 3 ถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ และส่วนในครึ่งปีหลังนั้นคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 4 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ 3.5 ถึง 4.5 เปอร์เซ็นต์
ความไม่นิ่งของการเมืองส่งผลอย่างจังต่อหลายบริษัทไม่เว้นแม้แต่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่อย่างเครือสหพัฒน์ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์บอกเลยว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้เลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี รายได้ของบริษัทเองก็คาดว่าจะตกต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี ด้วยตัวเลขอัตราเติบโตติดลบ 5 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังบอกว่าเศรษฐกิจไทยตอนนี้วิกฤตมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตปี 2540 เพราะครั้งนี้ผลกระทบไม่ได้อยู่แค่ในวงธุรกิจขนาดใหญ่เหมือนอย่างปี 2540 แต่ลงไปถึงรากหญ้าเลย
ด้านยักษ์ใหญ่อีกเจ้าอย่างโอสถสภาก็เจอผลกระทบเช่นกัน รายได้สินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาเติบโตต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังยืนยันที่จะทำไปให้ถึงเป้ารายได้เติบโต 10 เปอร์เซ็นต์ในสิ้นปี ซึ่งบริษัทต้องอัดโปรโมชั่น แคมเปญการตลาดต่างๆ มีลดแลกแจกแถมครบ และต้องเร่งแผนการตลาดที่วางไว้ให้เร็วขึ้น ใช้งบฯเร็วขึ้นกว่าเดิม
ในสายตาของ วิเชียร สันติมหกุลเลิศ ผู้อำนวยการการตลาดของโอสถสภา สินค้าอุปโภคบริโภคในปีนี้ดูไม่สดใสเลย สินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันจริงๆ จะโตน้อย ในขณะที่สินค้าที่ไม่จำเป็นก็จะไม่โตเลย เพราะคนหันไปซื้อของถูกลงหรือลดปริมาณการใช้ เขายกตัวอย่างผ้าอ้อมที่ถ้าเด็กโตขึ้นมาพอสมควรแล้ว พ่อแม่ก็อาจอยากประหยัดเงินโดยให้ใช้ผ้าอ้อมเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น เพราะตอนกลางวันพ่อแม่สามารถอยู่ทำความสะอาดให้ลูกได้
ห้างยักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ก็โดนไม่น้อย ยุวดี พิจารณ์จิตร ถึงกับออกมาบอกว่าปีนี้ถือเป็นหนึ่งในปีที่แย่ที่สุดที่เซ็นทรัลเจอ ผู้บริโภคเดินห้างน้อยลงและมีความลังเลในการตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งผู้บริหารก็ทำใจแล้วว่ายอดรายได้สิ้นปีนี้คงไม่เติบโตจากปีที่แล้ว จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ห้างจึงพยายามสร้างบรรยากาศโดยประกาศทุ่มเงินถึง 1.5 พันล้านบาทกระตุ้นยอดขายในช่วงหกเดือนที่เหลือ ซึ่งมากกว่า งบการตลาดในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เซ็นทรัลวางแผนจะใช้โอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี อัดกิจกรรม ทางการตลาดมากมายรวมทั้งโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ด้วย
แต่ในทางกลับกัน หลายบริษัทก็ยังเห็นผลประกอบการดีอยู่ เช่น ไบเออร์สดอร์ฟ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าดูแลผิวเช่นนีเวียและ ยูเซอรีนซึ่งยังเห็นการเติบโตอยู่ โดย ธนชัย ชัยกิตติวนิช ผู้จัดการ กลุ่มนีเวีย วิซาจ บอกว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ (20 มิถุนายน) รายได้บริษัทเติบโตไปแล้ว 28 เปอร์เซ็นต์ ยูนิลีเวอร์ก็บอกว่าเป้าเติบโตยังคงอยู่ ด้านลอริอัลบอกว่ายอดขายเติบโตสูงสุดเป็นอันดับสองของลอริอัลในเอเชียด้วยอัตราเติบโต 13 เปอร์เซ็นต์ในครึ่งปีแรก และมั่นใจว่าทั้งปีจะเติบโตต่อ 21 เปอร์เซ็นต์
การทำธุรกิจ ณ นาทีนี้ นอกจากต้องจับตาดูความ เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เพิ่มความถี่ในการทบทวน แผนการตลาดจากครึ่งปีหรือสามเดือนต่อหนึ่งครั้งเป็นทุกเดือนหรือทุกสัปดาห์แล้ว สิ่งสำคัญคือ ชื่อเสียงของตราสินค้า ฐาน ลูกค้าที่แข็งแกร่ง ความคุ้มค่าของราคา ความสามารถในการโน้มน้าวผู้บริโภคให้ยัง คงซื้อสินค้าของเรา หลายบริษัทใช้ โอกาสนี้มัดใจผู้บริโภค โดยเปิดตัวสินค้า ที่มี นวัตกรรมออกมาเรื่อยๆ ดังเช่นที่ ธนชัยจากไบเออร์สดอร์ฟบอกเพื่อแสดง ให้ ผู้บริโภคเห็นถึงความทุ่มเทที่มีอยู่ตลอด ถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ดี ขณะเดียวกัน นักการ ตลาดต้องศึกษาผู้บริโภคในเชิงลึกยิ่งขึ้น เพื่อคอยจับทิศทางความต้องการผู้บริโภคให้ ถูกต้อง รวมทั้งต้องสื่อสารกับผู้บริโภคให้มากขึ้นด้วย
หากถามถึงความเชื่อมั่นของนักธุรกิจตอนนี้ แทบทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันหมดคือทุกอย่างอยู่ที่ภาวะการเมือง หลายคนยังพยายามมองในแง่บวกว่ารัฐบาล จะสามารถคลี่คลายความขัดแย้งต่างๆ ได้ สิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดคือความ สามารถของรัฐบาลในการควบคุมสถาน การณ์เพื่อไม่ให้บานปลายรุนแรง บางส่วน ยังขอให้รัฐบาลมีความเป็นกลางที่สุด โดยให้สิทธินักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทาง การเมืองได้รับสิทธิเลือกตั้งครั้งต่อไป ได้เพียงแต่ต้องเปลี่ยนชื่อ และเรียกร้องให้ รัฐบาลรีบแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุด
ถึงตอนนี้ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะไปถึงขั้นไหน และรัฐบาลก็ยังคงต้องคอยตามแก้อยู่ นายกฯก็ได้ออกมาให้สัญญาแล้วว่าจะเร่งการลงมติร่างรัฐธรรมนูญจากเดิมเดือนกันยายนเป็น 19 สิงหาคม และเร่งการเลือกตั้งจากเดิมที่คาดไว้ปลายเดือนธันวาคมเป็น 25 พฤศจิกายน แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะสัญญาว่าอะไร สิ่งที่นักธุรกิจต้องการก็คือขอให้มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง เพราะถ้าทุกอย่างเดินไปตามเวลาที่คาดการณ์ไว้ ประเทศไทยก็ยังต้องใช้เวลาถึงกลางปีหน้ากว่าทุกอย่างจะเข้าที่และเริ่มฟื้น แล้วลองคิดดูว่าถ้าสภาวะการเมืองยังวุ่นวายและสภาวะการเมืองหยุดนิ่งอยู่อย่างนี้ เศรษฐกิจไทยจะต้องรออีกนานแค่ไหนถึงจะฟื้น ถึงตอนนี้ รัฐบาลคือความหวังเดียวของอนาคตเศรษฐกิจไทย…